tt ads

หลายคนอาจเคยเจออาการเหล่านี้ เดินอยู่ดี ๆ รู้สึกมีอาการวูบ คล้ายจะเป็นลม หรือนั่ง ๆ อยู่ ลุกขึ้นยืน รู้สึกหน้ามืด หรือหมดสติ ซี่งสาเหตุของอาการเหล่านี้มีหลายปัจจัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่รู้ไหมว่า อาการวูบ อันตรายกว่าที่คิด และอาจหมายถึงชีวิตที่หมดลมหายใจได้เช่นกัน  วันนี้เราจะมาชวนทุกคนตระหนักถึงอันตรายของอาการวูบ ทำความเข้าใจว่าอาการวูบเกิดจากอะไรได้บ้าง และเราจะสามารถป้องกันอาการวูบได้อย่างไร 

อาการวูบคืออะไร 

อาการวูบ คือ อาการหน้ามืด รู้สึกจะเป็นลม หมดสติ (syncope) เป็นภาวะการหมดสติชั่วคราว โดยมักจะเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน และสามารถหายเองได้อย่างรวดเร็ว แต่อันตรายจากอาการวูบที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว อาจทำให้มีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว เสียการทรงตัว ล้มลงศีรษะกระแทกพื้น จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวูบ เกิดจากอะไรได้บ้าง 

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • เปลี่ยนท่าทางหรือการเคลื่อนไหวกระทันหัน 
  • ร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากเกินไป 
  • มีภาวะเจ็บปวดมาก ๆ 
  • หิวจัด ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • อายุมากขึ้น ผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดอาการวูบได้ง่าย 
  • มีสิ่งผิดปกติที่หูชั้นในที่เกี่ยวกับระบบประสาทการทรงตัว
  • มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด
  • มีภาวะผิดปกติทางสมอง เช่น เส้นเลือดสมองตีบ มีเลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด
  • มีความผิดปกติทางสภาพจิตใจ เช่น ความเครียด ตกใจ ประหม่า หวาดกลัว 
  • ร่างกายขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง เสียเหงื่อมากเกินไป เป็นต้น 
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง 

อาการวูบแบบไหนควรรีบส่งแพทย์โดยด่วน 

  • มีอาการวูบแล้วปวดศีรษะ วิงเวียน เห็นภาพซ้อน ปวดหลัง หรือมีอาการชักร่วมด้วย 
  • มีอาการวูบแล้วหมดสติเป็นเวลานาน 
  • มีอาการวูบแล้วมีใบหน้าเบี้ยว 
  • มีอาการวูบและมีเลือดออก
  • มีอาการวูบแล้วอาเจียน และมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย 
  • มีอาการวูบและมีการหายใจเร็ว ใจสั่น เหนื่อยหอบ และเจ็บหน้าอก 
  • ผู้ที่มีอาการวูบมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย เช่น โรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง 

 

วิธีป้องกันอาการวูบ

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8-10 แก้ว 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้มีคุณภาพ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที 
  • ตรวจร่างกายประจำปี 
  • หากมีอาการวูบ ให้ปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 

 

ศึกษาและทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการวูบ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นเสีย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการวูบจนอาจทำให้หมดสติ และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ การใส่ใจและป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น ย่อมดีกว่าการรักษาหลังจากเกิดอาการขึ้นแล้ว ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอาการเล็กน้อยหรือรุนแรงแค่ไหน ดังนั้น ป้องกันตัวเองด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพไว้ก่อนดีกว่าค่ะ 

tt ads