tt ads

ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากที่เสพติดการศัลยกรรม หรือมีภาวะทางจิต เพราะไม่พอใจกับหน้าตาหรือหน้าตาของตน และถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ของตนไม่ได้มีอะไรผิดปกติใด ๆ แต่ก็ยังไม่พอใจ คิดว่าหน้าไม่สวย จมูกเบี้ยวไป หรือจิตตกคิดว่าตัวเองอ้วนเกินไป คิดซ้ำไปซ้ำมา จนกลายเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจรวมถึงการปฏิสัมพันธุ์กับคนรอบข้าง ใครที่กำลังเข้าข่ายอาการเหล่านี้ คุณอาจกำลังป่วยโรค BDD หรือ Body Dysmorphic Disorder  

 

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญเผยว่า มีผู้ป่วยโรค Body Dysmorphic Disorder เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยเฉลี่ยร้อยละ 34 เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มคนโสดที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 – 35 ปี และอาการของโรคเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยเด็กโตที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 13 – 15 ปี เป็นต้นไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์หนุนนำด้วยสื่อเทคโนโลยี สามารถเข้าถึงได้ง่าย และค่านิยมการโอ้อวดชีวิตตนเองบนสื่อแทบทุกแพลตฟอร์ม 

โรค Body Dysmorphic Disorder เป็นอย่างไร 

โรค BBD คือ โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองมากเกินปกติ ให้ความสนใจหน้าตาและรูปร่างของตัวเองมากเกินไป ส่องกระจกแทบตลอดเวลา แบบอาการย้ำคิดย้ำทำ ถามคนอื่นซ้ำ ๆ ถึงรูปลักษณ์ภายนอกของตนเป็นอย่างไร กลัวตัวเองสวย ไม่หล่อ กังวลและใส่ใจคำพูดคนอื่นถึงรูปร่างหน้าตาของตัวเอง คอยเปรียบเทียบกับผู้อื่น และอยากเปลี่ยนแปลงหน้าตารูปร่างอยู่ตลอดเวลา มีความคิดวนเวียนแต่อยากทำศัลยกรรม แม้ว่าทำแล้วก็ยังรู้สึกไม่พอ จนบางคนเสพติดการศัลยกรรม หรือคนที่มีเงินไม่พอก็คิดแต่อยากทำ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือบางคนทุ่มเทกับการเสียเงิน เสียเวลาในการดูแลตัวเองมากเกินไป แต่ถ้าอาการห่วงภาพลักษณ์ตนเอง ส่องกระจก ดูแลตัวเองปกติ หรือการเสริมสวยเติมหล่อ อัพนิด เสริมหน่อย ผ่าบ้าง ทำแล้วพึงพอใจ และไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการดำเนินชีวิตของตนเอง ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ถือว่าเป็นเพียงแค่ความชอบส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ได้เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรค BBD

สังเกตอย่างไรว่ามีภาวะโรค BBD 

การสังเกตว่าเข้าข่ายของภาวะโรค BBD หรือไม่ ดูได้จากความถี่ของพฤติกรรมและอาการที่แสดงออก คอยสังเกตหน้าตา รูปร่างตัวเองบ่อยมากแค่ไหน ส่องกระจกแทบตลอดเวลา หรือมีความกังวลเกี่ยวกับหน้าตาและหุ่นตัวเองมาก คิดวนเวียนจนกระทบต่อการเรียน การงาน หรือกระทบต่อสุขภาพ เกิดความเครียด ไม่ค่อยกินอาหารเพราะกลัวอ้วน ไม่อยากเข้าสังคมหรือไม่อยากเจอผู้คนเพราะคิดว่าตัวเองขี้เหร่ และกังวลว่าคนอื่นจะวิจารณ์หน้าตาหรือหุ่นตัวเอง หรือใช้จ่ายเกินกำลังไปกับการศัลยกรรม คอร์สดูแลตัวเอง หรือเครื่องเวชสำอางแพง ๆ 

 

ปัจจัยใดที่ก่อให้เกิดโรค BBD หรือ โรคไม่มั่นใจในหน้าตาตัวเอง

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะ Body Dysmorphic Disorder ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานจิตใจของผู้ป่วย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง ซึ่งอาจกระทบมาจากค่านิยมในสังคม สิ่งแวดล้อมที่เติบโต หรือความกดดันจากการถูกคาดหวัง รวมไปถึงสื่อสังคมในปัจจุบัน แม้ว่าอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็มีส่วนเสริมการเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง จนกลายเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค BBD 

 

โรค BBD รักษาได้ไหม 

โรคชอบดูถูกตัวเอง หรือ โรค BBD จัดว่าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง โดยอาการเบื้องต้นของโรคไม่ชอบหน้าตาตัวเองเกิดจากความวิตกกังวลในรูปลักษณ์ตนเองจนเกิดความเครียด และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หากได้รับการปรึกษาเพื่อให้จิตแพทย์ทำการประเมินอาการและวินิจฉัยโรค เพื่อใช้แนวทางรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคนี้ได้ 

 

วิธีการรักษาโรค BBD 

แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะ BBD ในแต่ละเคสจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบรับของตัวผู้ป่วย โดยแพทย์จะจัดกลุ่มยาคลายกังวลหรือยาต้านเศร้า ควบคู่ไปกับการบำบัดพฤติกรรม ให้คำแนะนำแก่คนรอบข้างในการช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง 

หากไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายมีภาวะ Body Dysmorphic Disorder หรือ คนใกล้ตัวอาจกำลังป่วยโรคนี้อยู่ อย่าอายที่จะไปปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อจะได้ให้แพทย์ทำการประเมิน วินิจฉัย และรักษาได้ทันท่วงที เพราะผู้ป่วยที่ไม่ได้รับรักษา อาการอาจลุกลามจนกลายเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง อยากทำร้ายตัวเอง หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังตัวอย่างคนดัง ๆ ที่เรามักจะได้ยินข่าวกันบ่อย ๆ อาทิ ศิลปินระดับโลก ฉะนั้น หากไม่สบายใจหรือรู้ตัวว่าตนเองเข้าข่ายโรค BBD รีบไปพบแพทย์ดีที่สุด ลดโอกาสการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

tt ads