tt ads

ผู้คนในสังคมปัจจุบัน มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคจิตเวชกันได้ง่ายและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วย ซึ่งสาเหตุของการป่วยโรคจิตเวชเหล่านี้ มักมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม และประสบการณ์ในชีวิต รวมถึงสารเคมีในร่างกายที่ผิดปกติ และส่วนมากเรามักจะคุ้นเคยหรือได้ยินกับโรคจิตเวชประเภท โรคซึมเศร้า หรือ ไบโพลาร์ แต่ยังมีอีก 5 โรคทางจิตเวชแปลก ๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือไม่คิดว่าจะมีโรคแบบนี้อยู่ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วยด้วยโรคเหล่านี้อยู่ จะมีโรคอะไรบ้าง ลองมาดูกันหน่อยดีกว่า เรากำลังมีอาการเหล่านี้อยู่บ้างหรือเปล่านะ 

  1. โรค PTSD (Post – Traumatic Stress Disorder) 

โรค PTSD หรือ โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งเกิดหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์น่ากลัว หรือมีความอันตรายแก่ชีวิต โดยเหตุการณ์เหล่านั้นยังฝังใจ ทำให้มีอาการของโรค PTSD คือ รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มีความเครียด ตื่นตระหนก หวาดผวา หรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นอยู่บ่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและจิตใจ บางรายอาจพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยังสถานที่ ๆ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่พูดถึง และอาจมีอารมณ์ที่ไม่คงที่ ซึ่งค่อนข้างเป็นไปในทางลบ จนทำให้มีอาการหวาดวิตก ตื่นตระหนกตกใจง่ายกว่าปกติ นอนหลับยาก และอาจมีอาการหรือโรคร่วมอื่น ๆ เช่น หันไปพึ่งแอลกอฮอล์จนติดการดื่มเหล้า หรือมีอาการโรคซีมเศร้า เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอาการยังไม่มาก หรือรู้ตัวว่าป่วยโรค PTSD  เร็ว และเข้ารับการรักษา ทำการบำบัดกับนักจิตวิทยาได้เร็ว ก็จะช่วยควบคุมอาการได้ดี และรักษาให้หายได้ 

  1. โรคความผิดปกติในการใช้สาร 

โรคความผิดปกติในการใช้สาร ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Substance – Used Disorder คือ โรคที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการใช้สารใดสารหนึ่งได้ แม้จะรู้ถึงโทษของการใช้สารนั้นก็ตาม และอาจมีการพยายามเลิกในการใช้สารนั้น ๆ แต่สุดท้ายก็หาสารมาใช้ และอาจใช้มากขึ้นกว่าเดิม จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใช้สารส่วนใหญ่มักจะมีอาการ หรือภาวะทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือ PTSD ซึ่งมีความเครียด วิตกกังวลจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นต้น ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว แต่สามารถกลับไปเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น การให้กำลังใจ และคำชื่มชมจากผู้คนรอบข้างในขณะที่ทำการรักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้

  1. โรคสมาธิสั้น 

โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD  (Attention – Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะการทำงานของสมองบกพร่อง โดยมักจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เด็กที่เกิดมาก็จะมีโอกาสของการเป็นโรคสมาธิสั้นได้มากกว่าครอบครัวทั่วไป 4 – 5 เท่า นอกจากนี้ สาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น มารดาสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น การรักษาผู้ป่วยสมาธิสั้น จะใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองเพื่อทำให้มีสมาธิและนิ่งมากขึ้น 

  1. โรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง 

โรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง หรือที่เรียกว่า Borderline Personality Disorder คือ ผู้ที่มีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ กลัวการถูกทิ้ง กลัวตัวเองไม่มีค่า มีอารมณ์รุนแรง ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่สามารถอยู่ในความสัมพันธ์กับใครได้นาน ชอบทำร้ายตนเอง หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่างเปล่า และไม่มีความหมายที่จะอยู่ต่อ ซึ่งมักจะพบผู้ป่วยโรคจิตเวชประเภทนี้ในวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องการความยอมรับจากผู้คนรอบข้าง ต้องการมีตัวตน จึงเป็นวัยที่รู้สึกอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าจากแวดล้อมได้ง่ายนั่นเอง 

  1. โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ

โรคการกินผิดปกติ เรียกอีกอย่างว่า Eating Disorder คือ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมการกินที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยในผู้ป่วยบางรายเกิดจากการกังวลในเรื่องของน้ำหนักตัว กลัวอ้วน กลัวน้ำหนักขึ้น จนทำให้เลือกทานแต่อาหารไร้ไขมัน อาหารพลังงานต่ำ อาหารที่ไม่มีคุณภาพ หรือการรู้สึกผิดที่ทานอาหารมากแล้วต้องการนำออกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น การทำให้อาเจียน การโหมออกกำลังกายอย่างหนัก จนอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะความตึงเครียด ขาดสารอาหารบางชนิด และอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย ซึ่งการรักษอาจต้องใช้การบำบัดทางจิต ควบคู่ไปกับการทานยา และอยู่ใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย รวมไปถึงการดูแลด้านโภชนาการ 

 

โรคจิตเวช แม้ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยหรือมีภาวะผิดปกติทางจิต แต่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ จนขยายไปกระทบต่อการใช้ชีวิต รวมไปถึงความสัมพันธ์กับผู้คน และอาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาความรุนแรงได ้หากไม่ได้รับการรักษาหรือเยียวยาด้วยวิธีที่เหมาะสม ดังนั้น การคอยหมั่นสังเกตความรู้สึกและพฤิตกรรมของตน รวมไปถึงของคนใกล้ชิด จะช่วยให้รู้เท่าทัน และสามารถทำการรักษาได้เร็ว ทำให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้อย่างถาวร เพราะเราทุกคนสามารถเป็นโรคทางจิตเวชได้โดยไม่รู้ตัว 

 

tt ads