
เชื่อว่าทั่วประเทศไทยในขณะนี้ต่างโศกเศร้าและเสียขวัญกับเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก ที่หนองบัวลำภู ไม่เพียงแต่คนในประเทศไทยเท่านั้นที่รู้สะเทือนใจกับโศกนาฏกรรมที่ต้องสูญเสียอนาคตของชาติกว่า 30 ชีวิตในครั้งนี้ ชาวต่างชาติหลายประเทศต่างก็ร่วมไว้อาลัยและมีสำนักข่าวของสื่อต่าง ๆ ได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลกเช่นกัน
จากเหตุการณ์กราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกหลายราย ซึ่งเหยื่อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาล โดยมี ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อายุ 34 ปี ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาวัง หนองบัวลำภู ที่ถูกไล่ออกจากราชการในคดียาเสพติด เป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 โดยมี ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อายุ 34 ปี ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาวัง หนองบัวลำภู ที่ถูกไล่ออกจากราชการในคดียาเสพติด เป็นผู้ก่อเหตุบุกเข้าไปกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง หนองบัวลำภู จนทำให้ผู้เสียชีวิตกว่า 33 ราย และผู้บาดเจ็บอีกหลายคน ซึ่งเหยื่อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาล นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองได้รับบาดเจ็บ และครูที่กำลังตั้งครรภ์ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเนื่องจากหลบหนีไม่ทัน ก่อนที่ฆาตกรจะขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีขาว ทะเบียน กธ 6499 หลบหนี และยังมีการไล่ยิงผู้คนตามเส้นทางที่ขับรถผ่าน ก่อนจะกลับไปเผารถที่ใช้ในการก่อเหตุ และยิงลูก-เมีย ตามด้วยการยิงตัวเองตายหนีความผิด ทั้งที่ ส.ต.อ.ปัญญา จะต้องขึ้นศาลในวันที่ 7 ตุลาคม (วันนี้) ในคดียาเสพติด ที่เป็นเหตุให้ต้องถูกออกจากราชการนั่นเอง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกเหมือนเหตุการณ์วนลูปกลับมาในรูปแบบเดิมอีกครั้ง หากใครจำข่าวใหญ่เมื่อ 2 ปีทีแล้วได้ ที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ได้เกิดคลุ้มคลั่งบุกปล้นปืนสงคราม นำไปใช้กราดยิงคนในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินข่าวในลักษณะนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศเสียมากกว่า
ความรุนแรงในสังคมไทย
รู้สึกไหมว่าคนไทยมีความเครียดมากขึ้น มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น?
ความรุนแรง หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกาย วาจา จิตใจ หรือทางเพศ นำมาซึ่งอันตรายหรือความทุกข์ทรมานต่อผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ
หากลองพิจารณา ผล ที่เกิด มี เหตุ มาจากอะไร?
สาเหตุของการใช้ความรุนแรงมีด้วยกันหลายปัจจัย ดังนี้
- ลักษณะส่วนตัวของผู้ใช้ความรุนแรง
- นิสัยที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
- การเลียนแบบผู้ปกครอง คนในครอบครัว ที่มีการใช้ความรุนแรงเป็นประจำ
- เลียนแบบจากภาพยนต์ โทรทัศน์ สื่อ หนังสือ ที่มีเนื้อหาการใช้ความรุนแรง
- ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในทางที่ถูกต้อง
- เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีแต่การใช้ความรุนแรง
- ไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง
- เจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด ที่มีผลต่อการควบคุมตนเอง เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น
- ทัศนคติ ค่านิยม และความหลงผิดของผู้กระทำความรุนแรง ที่นำมาสนับสนุนให้กระทำ เพราะเชื่อว่าตนทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกคนอื่น และไม่ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา
- สังคมและสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น
- สภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย
- สื่อต่าง ๆ
- ได้รับแรงกดดันจากสังคม
แนวโน้มการใช้ความรุนแรงที่ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะในรูปของเด็กถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การล่วงเกินทางเพศ เด็กถูกทอดทิ้ง การก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรงระหว่างสามี-ภรรยา ทั้งด้านร่างกาย คำพูด และจิตใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการหย่าร้าง การทำร้ายผู้สูงอายุ และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่เราได้ยินข่าวมากขึ้นทุกวัน จนต้องกลับมาย้อนถามกันเองว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ที่ถูกขนานนามว่า สยามเมืองยิ้ม ประเทศแห่งเมืองพุทธ
การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม
ก่อนจะไปถึงการแก้ไขที่ปลายเหตุ เราควรป้องกันก่อนจะเกิด เหตุ เพื่อไม่ให้มี ผล ตามมา โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัวเป็นอันดับแรก โรงเรียน และชุมชน เพื่อเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรม
- พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างของการไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงแก้ปัญหา เพราะครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของการซึบซับตัวอย่างในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน การกระทำของคนในครอบครัวจะเป็นแบบอย่างที่ถูกดูดเข้าไปในเมมโมรี่และนิสัยของเด็ก ที่ต่อให้ถูกสอนด้วยคำพูดที่ดีมีเหตุผล แต่ถ้ายังคงเห็นการกระทำที่รุนแรง คำสอนเหล่านั้นก็ไม่เป็นผล เช่น เด็กที่มีพ่อเป็นคนใจร้อน และมักจะทำร้ายร่างกายภรรยาหรือคนรอบข้างเป็นประจำ แต่สอนให้ลูกเป็นคนใจเย็น คิดว่าระหว่างคำพูดกับการกระทำของพ่อ เด็กเลือกที่จะเชื่อและทำตามแบบใด? เพราะเด็กจะเรียนรู้จรกสิ่งที่เห็นมากกว่าคำพูดที่ได้ยิน เป็นปกติของเด็กทุกคน จนกว่าจะเติบโตขึ้นและอาจมีความคิดที่ถูกต้องกว่า
- ให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติตั้งแต่เล็ก เพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงการมีสิ่งอื่นอีกมากมายในโลกนี้ เป็นการเชื่อมโยงให้เด็กได้เรียนรู้ว่าไม่ได้มีเพียงตัวเขาให้ยึดถือเอาฝ่ายเดียว และเขาจะสามารถเรียนรู้ในการจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น
- ไม่ควรให้เด็กอยู่แต่กับอุปกรณ์สื่อสาร เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อต่าง ๆ มักจะมีความรุนแรงมที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เด็กยังไม่สามารถแยกแยะเองได้ จึงต้องมีผู้ปกครองคอยอยู่ข้าง ๆ ระหว่างใช้งานเครื่องมือสื่อสารเหล่านั้น เพื่อคอยให้คำแนะนำและสอดแทรกเหตุผล หรือควบคุมในการรับสื่อที่เหมาะสม และถ้าจะให้ดีที่สุดคือ หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ ได้เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ได้อย่างเหมาะสมกับวัย
- ผู้ปกครองควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ให้เด็กได้รู้สึกว่าเขาสามารถคุยและปรึกษากับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง พวกเขาจะได้ไม่ต้องเก็บไว้เพียงลำพัง จนเกิดความเครียดและไม่สามารถหาทางออกได้ จนอาจกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามและสร้างความเสียหายหรืออันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น
- สอนให้เด็กรู้จักและทำความเข้าใจของอารมณ์ต่าง ๆ และรู้วิธีในการรับมือกับอารมณ์เหล่านั้น ทั้งที่เกิดกับตนเองหรือเกิดกับผู้อื่น เมื่อเด็กเริ่มอารมณ์ไม่ดีหรือโกรธ ผู้ใหญ่ควรบอกให้เด็กรู้ว่าเราเข้าใจการโกรธของเขา อย่าเพิ่งดุด่าหรือทำโทษ เช่น “แม่รู้วาหนูโกรธที่น้องเอาตุ๊กตาของหนูไปเล่น” จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา ช่วยให้เขารับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของตนเอง และจะเป็นจุดที่ทำให้เขารู้จักเห็นใจผู้อื่นในเวลาต่อมา
- ผู้ใหญ่ควรค่อย ๆ สอนการจัดการอารมณ์ทางลบกับเด็กในเวลาที่เหมาะสม อย่าเพิ่งไปพร่ำบ่นหรือสอนในเวลาที่เด็กมีอารมณ์ เด็กจะไม่ฟัง แต่ให้สังเกตอารมณ์ของเขา แล้วปล่อยให้เขาหายโกรธหรือหายเศร้าก่อน แล้วค่อยเข้าไปชวนพูดคุย ไถ่ถามความรู้สึก ให้เขาเล่าถึงความรู้สึกของตนเอง จากนั้นค่อยพูดคุยถึงการจัดการกับอารมณ์ของเขา หากกรณีที่เด็กแสดงอารมณ์รุนแรง ปาหรือทำลายสิ่งของพัง อย่าไปดุด่า แต่สอนให้เขารู้จักการรับผิดชอบ เช่น หักค่าขนมเพื่อชดใช้กับของที่เขาทำพัง และแนะนำให้เขาหาวิธีที่สร้างสรรค์เมื่อรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดในครั้งต่อไป โดยเด็กบางคนเมื่อโกรธแล้วจะไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน ไปเล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อารมณ์โกรธพวกเขาจะลดลง เมื่อพวกเขาจัดการกับอารมณ์ได้ดี ก็ให้ชื่นชมและให้กำลังใจ
การมีอารมณ์และความรู้สึกทางลบนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนมีได้กันทั้งนั้น เพราะไม่มีใครที่ไม่เคยรู้สึกผิดหวัง โกรธ เศร้า หรือเสียใจ แต่วิธีการรับมือและจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นต่างหากที่สำคัญ
ทำไมปัญหาการใช้ความรุนแรงจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- ความไม่ใส่ใจปัญหาความรุนแรง ตั้งแต่ปัญหาการใช้กำลังในครอบครัว ที่คนภายนอกคิดว่าไม่ควรเข้าไปยุ่ง และไม่มีใครเข้าไปให้การช่วยเหลือ
- ธรรมเนียมความเชื่อที่มักจะมองว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ
- มีทัศนคติ ความเชื่อ และความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล
- ไม่ได้รับความใส่ใจและแก้ไขอย่างจริงจังจากผู้มีอำนาจในระดับประเทศ
- ช่องโหว่ของกฏหมาย และการพลิกแพลงของผู้ถืออำนาจทางกฏหมาย
- การไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งที่มีนโยบายระดับประเทศรองรับ
หรือจะกล่าวสรุปได้ว่า อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในประเทศไทย คือ “คน” ทำให้ กฏหมาย ไม่ศักดิ์สิทธิ์ มันจึงเป็นได้แค่ ตัวหมึกที่เป็นอักษรบนกระดาษ เท่านั้นเอง