tt ads

ใกล้ถึงวันแม่แล้ว คนส่วนใหญ่จะนึกในฐานะลูก ว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณน้ำนมแม่ แต่ในขณะเดียวกัน วันนี้ก็เป็นอีกวันสำคัญของผู้ที่อยู่ใน ฐานะพ่อ-แม่ ที่มีลูกเช่นกัน เพราะบทบาทนี้เป็นปฐมบทที่จะปลุกปั้นเด็กคนหนึ่ง ให้เติบโตเป็นลูกที่ดี เป็นคนดีในสังคม และจะเป็นพ่อแม่ที่ดี ที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น ในอนาคตต่อไป

ดังนั้นในวันแม่ปีนี้ เราจึงขอโฟกัสที่บทของพ่อแม่ และย้อนกลับไปเมื่อตอนเรายังเป็นลูกน้อย เคยฝังใจกับคำพูดของพ่อแม่คำไหน จนส่งผลต่อสภาพจิตใจและบุคลิกภาพของคุณบ้างไหม? และเมื่อเราต้องเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่งคนเป็นพ่อเป็นแม่บ้างล่ะ รู้ไหมว่า คำไหนที่ไม่ควรพูดกับลูกบ้าง เพราะคำพูดเหล่านั้นจะส่งผลต่อลูกของคุณ ทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เหมือนอย่างที่คุณเองก็อาจเคยเจอเมื่อนานมาแล้ว  

1. คำสั่งที่เป็นการห้าม

 การพูดห้ามเด็กบ่อยๆ อย่างเช่นคำว่า ‘ไม่’, ‘หยุด’ , ‘อย่า’ จะส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวจะทำผิด จะโดนดุ โดนทำโทษ ทำให้ปิดกั้นความคิดสร้างสรร ปิดกั้นความกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ จนเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เขาได้รู้ถึงความสามารถของตนเอง

ซึ่งคำห้ามเหล่านี้ ควรจะพูดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย หรือพูดห้ามในสิ่งที่ไม่ควรทำ พร้อมกับชี้แจงเหตุผลในการห้ามแต่ละครั้งด้วย เพื่อให้เด็กได้เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรทำแบบนั้น หรือทำไม่ได้เพราะอะไร เช่น “ลูกไม่ควรเล่นมีดนะคะ เพราะมีดจะบาดมือทำให้ลูกเจ็บ” แทนคำว่า “ห้ามเล่นมีด!” อย่างเดียว เพราะเด็กบางคนอาจไม่เล่นเพราะความกลัวจะโดนดุ แต่เด็กบางคนอาจจะยิ่งอยากรู้ว่าทำไมถึงเล่นไม่ได้ แล้วอาจอาศัยช่วงผู้ใหญ่เผลอ ไปหยิบมืดมาเล่นจนเกิดอันตรายได้ หรือ “เราเดินจับมือกันไปดีกว่านะคะ หนูจะได้ไม่หลง”

2. การพูดบังคับ เคี่ยวเข็ญ 

พ่อแม่ที่ชอบเคี่ยวเข็ญ พูดบังคับ หรือกดดัน เช่น “ต้องทำให้ได้มากกว่านี้” , “ต้องสอบได้ที่ 1” ฯลฯ  คำพูดที่สร้างความกดดันแก่เด็ก ทำให้เด็กเกิดความเครียด สะสมจนกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มุ่งสู่เป้าหมายที่พ่อแม่ตั้งไว้ให้จนไม่สนใจจะทำร้ายหรือส่งผลกระทบกับคนรอบข้างหรือไม่ หรือบางคนก็กลายเป็นคนก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น ต่อต้านคนรอบข้าง แต่เด็กบางคนอาจรู้สึกกดดันจนเกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดในสมอง หรือทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ความตาย เช่น ในข่าวที่เราได้รับรู้กันอยู่ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นพ่อแม่ควรจะให้กำลังใจลูก เพื่อเป็นการแสดงถึงความรักความห่วงใยจะดีกว่า เมื่อเด็กรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีของพ่อและแม่ จะเสริมสร้างกำลังใจให้เด็กได้ทำในสิ่งต่างๆ อย่างมั่นใจและตั้งใจ ให้สมกับความหวังดีที่พ่อแม่มีให้ และยังช่วยสานสายใยครอบครัวให้เหนียวแน่นอีกด้วย 

3. คำขู่ 

คำขู่ต่างๆ ที่อาจดูเล็กน้อย แต่เชื่อไหมว่า คำบางคำนั้นฝังใจลูกไปจนถึงวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อ หรือบุคลิกภาพของเขาได้ในอนาคต เช่น “ทำแบบนี้ เดี๋ยวไม่รักนะ” ทำให้เด็กไม่กล้าจะทำอะไร ไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวจะไม่เป็นที่รักของพ่อแม่ หรือกลัวว่าจะไม่มีคนรัก ทำให้กลายเป็นคนโหยหาความรัก จนส่งผลต่อชีวิตในด้านอื่นๆ เมื่อเติบโตขึ้น

คำพูดที่เราคุ้นเคยประจำอย่าง “เดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ” นอกจากจะสร้างความหวาดกลัวให้กับเด็กในเวลานั้นแล้ว แต่อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้กลัว กลัวในสิ่งที่ไม่ควรจะกลัว อย่างตุ๊กแก ที่ความจริงแล้วเป็นเพียงแค่สัตว์ชนิดหนึ่ง ที่หากไม่ไปยุ่งไปทำร้ายมัน ก็โอกาสน้อยมากที่ตุ๊กแกจะมาทำร้ายเรา ไหนจะเรื่องความเชื่อ … ตุ๊กแกไม่ได้กินตับเด็ก! อย่าปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้กับเด็ก เพียงเพื่อหลอกให้เด็กกลัว เราจะต้องเป็นพ่อแม่ที่มีความสมเหตุสมผล เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก

4. เปรียบเทียบ ประชดประชัน 

คำพูดเปรียบเทียบเด็กกับคนอื่น หรือการพูดประชดประชัน เช่น “ลูกต้องสอบให้ได้ที่ 1 เหมือนลูกบ้านนั้นสิ” หรือ “ทำไมไม่หางานทำที่ได้เงินมากกว่านี้” ฯลฯ แม้ว่าจะพูดเพื่อผลักดันให้ลูกพยายามมากขึ้น แต่รู้ไหมว่า ถ้อยคำเหล่านั้น เป็นการทำร้ายจิตใจลูก ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ไม่เก่ง ไม่ดีพอ จนกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ หรือกลายเป็นคนขี้อิจฉา เกลียดชังคนที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ เกลียดชังรอบข้าง จนอาจไปสู่การทำร้ายเขาได้เมื่อมีโอกาส เหมือนในบางคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว

ดังนั้น ทางที่ดี พ่อแม่ควรพยายามทำความเข้าใจว่าลูกชื่นชอบหรือมีความสามารถในด้านใด จากนั้นก็ส่งเสริมและสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ พร้อมทั้งให้กำลังใจและชื่นชม เพื่อให้เขาได้ภูมิใจในตัวเอง และสามารถพัฒนาศักยภาพของตนไปในทางที่ดีและถูกต้อง และห้ามลืมเด็ดขาดว่า ในทุกๆการสนับสนุนของคุณ จะต้องไม่เจือด้วยคำเปรีบบเทียบกับใครเด็ดขาด แต่ให้บอกว่าเขาสามารถทำได้ในแบบที่เป็นตัวเขาเอง และคุณภาคภูมิใจแค่ไหน เมื่อเขามีความพยายามหรือทำสำเร็จ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม 

5. พูดเข้าข้างเมื่อลูกทำผิด 

การเข้าข้างลูกทุกครั้งแม้ว่าจะทำผิด เป็น พ่อแม่รังแกฉัน หรือ พ่อแม่รังแกลูก นั่นล่ะ เพราะการพูดเข้าข้างลูกเสมอ จะเป็นสร้างนิสัยเอาแต่ใจ เอาแต่ได้ และไม่รู้จักอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ อะไรดี อะไรชั่วให้กับลูก  เพราะถูกพ่อแม่สปอยเป็นเทวดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ทำให้ติดกับความคิดที่ว่าตัวเองถูกต้องเสมอ เช่น “ลูกไม่ผิด” หรือ เข้าข้างลูกเสมอ จนใครก็แตะไม่ได้ เช่น “ใครก็ห้ามว่าลูกฉัน” และเมื่อลูกโตขึ้นก็จะไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้เลย จนกลายเป็นคนเอาแต่ใจ เป็นที่เอือมระอา หรือคนรอบข้างรังเกียจ จนอาจทำให้อยู่ในสังคมได้ลำบาก

หากคุณจะแย้งว่า “ลูกฉัน ฉันดูแลเองได้” แต่อย่าลืมว่าวันหนึ่งคุณก็ต้องจากเขาไปอยู่ดี  จากนั้นเขาจะอยู่ในสังคมในรูปแบบไหน? ดังนั้น พ่อแม่ควรจะสอนให้เขารู้จักขอโทษเมื่อทำผิด พร้อมให้เหตุผล และชี้แจงอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เข้าใจและรู้จักปรับปรุงตัวเอง ซึมซับจนเป็นนิสัย แล้วเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า และอยู่ที่ไหนก็ได้ โดยที่คุณไม่ต้องเป็นห่วงเมื่อจะต้องจากโลกนี้ไป 

 

เพราะคำพูดของพ่อแม่มีอิทธิพลและส่งผลต่อความเป็นตัวตนของเด็กได้ เนื่องจากพ่อแม่คือต้นแบบแรกที่ลูกได้เห็น เรียนรู้ และซึมซับ ไปจนกว่าที่พวกเขาจะเติบโตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป ดังนั้น นอกจากพ่อแม่จะต้องระวังคำพูดแล้ว ยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ด้วย

บางอย่าง การกระทำ มีผลมากกว่าคำสอนเสียอีก เช่น ห้ามเขาเล่นโทรศัพท์ แต่เรากลับเอาแต่ไถหน้าจอมือถือ หรือ สอนลูกให้พูดจาไพเราะ แต่พ่อกับแม่มัวแต่ทะเลาะด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือพูดจากับคนในบ้านด้วยคำหยาบ เป็นต้น จะทำให้เด็กไม่เชื่อฟังและต่อต้านได้  พ่อแม่ทุกคนจึงควรจำไว้ว่า ก่อนจะสอนอะไรลูก เราต้องทำดังนั้นเพื่อเป็นตัวอย่างด้วย และควรมีสติก่อนที่จะพูดคำใดออกไปกับลูก เพราะทุกคำพูดของพ่อแม่มีผลกับจิตใจของลูกมากกว่าใคร 

 

tt ads