tt ads

งูปากบุก หรือ งูกะปะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Malayan pit viper และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Calloselasma rhodostoma งูกะปะจะมีลักษณะตัวป้อมสั้น หัวเป็นทรงสามเหลี่ยมชัดเจน หัวคล้ายลูกศร มีลายเป็นสามเหลี่ยมปลายชนเข้าหากัน จะต่างจากลายของงูปี่แก้ว มีในทุกภาค แต่ที่ชุกชุมคือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งคนไทยก็ถูกงูกะปะกัดได้บ่อย เพราะเป็นสายพันธ์ที่มีจำนวนมากในไทย ชอบนอนขดเป็นวงกลม วางหัวบนสุด พร้อมจะฉกได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นงูที่ไม่ปราดเปรียว แต่มีการโจมตีที่รวดเร็ว หากมีความกังวล โกรธ จะสั่นหางคล้ายกับงูหางกระดิ่ง 

 

งูกะปะเป็นงูพิษที่มีอันตรายต่อมนุษย์มาก งูกะปะกับงูแมวเซาอยู่ในวงศ์เดียวกัน หรือเป็นงูตระกูลไวเปอร์ (Viperidae) งูกะปะมีหลายสายพันธุ์ ทั้ง งูกะปะสามเหลี่ยม งูกะปะลายพรม งูกะปะคอแดง งูกะปะปากเหม็น ที่เรียกว่างูกะปะปากเหม็น เพราะเมื่อกัดแล้วเนื้อบริเวณที่โดนกัดจะเน่าเหม็นหรือเนื้อตาย และกะปะในภาษาใต้ก็ยังแปลว่า ปากเหม็น ซึ่งจะพบได้มากที่ภาคใต้ นอกจากนี้ งูกะปะยังเป็น 1 ใน 7 งูพิษ ที่มีความสำคัญต่อวงการพิษวิทยาและทางการแพทย์

 

งูกะปะเป็นงูออกหากินเวลาพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะเวลาที่อากาศมีความชื้น อย่างเช่น หลังฝนตก เมื่อจะออกหาเหยื่อ งูกะปะจะเลื้อยไปยังจุดที่คิดว่าจะมีเหยื่อ แล้วนอนขดอยู่นิ่งๆ เป็นงูนักพรางตัว ชอบอาศัยอยู่ตามดินปนทราย หรือที่มีใบไม้ทับถามกันเยอะๆ ด้วยสีลำตัวงูจะมีสีออกคล้ายใบไม้แห้ง ทำให้มีความกลมกลืนเมื่อไปอยู่ปะปนกับใบไม้แห้ง หรือสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสีตัวงู  ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถมองเห็นตัวงูได้เด่นชัด และด้วยที่มักจะพบในพื้นที่การเกษตรกรรม อย่างสวนปาล์ม สวยยางพารา ฯลฯ ทำให้มีผู้ถูกงูกะปะกัดอยู่บ่อยๆ จนได้รับฉายาว่า “งูกับระเบิด” หรือ  “งูนักเลงสวนยาง” 

งูกับระเบิด งูนักเลงสวนยาง 

“กับระเบิดชีวภาพ” ด้วยที่ถ้าเหยื่อหรือศัตรูเข้าใกล้ งูกะปะจะนอนขดตัวนิ่ง ไม่ส่งเสียงใดๆ เพื่อรอจังหวะ และสีที่กลมกลืนกับดินและใบไม้ ทำให้คนโดนกัดได้ง่าย เพราะไม่มีเสียงขู่เตือน และสีที่กลมกลืนกับกองใบไม้แห้ง เหมือนกับระเบิดที่ถูกกลบไว้ล่อให้ศัตรูมาเหยียบ และบางครั้งแผลผู้ที่ถูกกัดจะเหวอะหวะคล้ายกับไปโดนกับระเบิดมา อีกทั้งยังพบได้บ่อยมากในสวนยาง ชาวสวนยางที่ต้องไปกรีดยางช่วงเช้ามืด มักจะมองไม่ค่อยเห็น ก็จะโดนกัดได้บ่อยครั้ง หรือแม้แต่บ้านเรือนที่ปลูกใกล้บริเวณสวนยาง ก็ยังสามารถเจองูที่เข้าบ้านหรือมาใกล้บริเวณบ้านได้บ่อยเช่นกัน 

งูกะปะออกลูกเป็นไข่หรือเป็นตัว? 

งูกะปะออกลูกเป็นไข่ สามารถออกไข่ได้คราวละ 10-20 ฟอง และไข่งูกะปะจะเป็นแพยาวติดกัน อาจเป็นแพก้อนกลมติดกัน เหมือนเป็นแพไข่ดาว ไม่ได้แยกเดี่ยวแบบไข่งูจงอาง 

 

พฤติกรรมในการฟักไข่ของงูกะปะ จะนอนเฝ้าไข่เฉยๆ เป็นการเฝ้าด้วยความหวงแหน และป้องกันอันตรายที่จะมาทำร้ายไข่เสียมากกว่า ไม่มีการใช้ตัวกกไข่ แตกต่างจากงูเหลือมหรืองูหลามที่ใช้อุณหภูมิในร่างกายทำการกกและฟักไข่ นอกจากนี้ยังมีการผสมพันธุ์และวางไข่ได้ทุกฤดูกาลอีกด้วย ด้วยการแพร่พันธุ์อย่างไม่จำกัดฤดูนี่เอง ทำให้มีงูกะปะเป็นจำนวนมากในประเทศไทย 

 

โดยปกติแล้วงูออกลูกเป็นไข่ แต่จะมีงูบางชนิดที่จะออกลูกเป็นตัว แต่แม่งูจะต้องตั้งท้องนานกว่าการออกลูกเป็นไข่ และข้อดีของการออกลูกเป็นตัวคือ เมื่อลูกงูออกมาแล้ว หากมีภัยมาใกล้ ลุกงูสามารถหลบภัยได้ ในขณะที่ถ้าออกลูกเป็นไข่ แม่งูจะใช้เวลาในการตั้งท้องสั้นกว่า แต่ข้อเสียคือ ถ้ามีภัยธรรมชาติมา ไข่อาจจะเสียทั้งหมด ด้วยไข่งูกะปะเป็นแพติดกันหมด หรือถ้ามีผู้ล่า ไข่ไม่สามารถหนีได้ ลูกงูกะปะก็จะไม่มีโอกาสได้ฟักออกมา 

 

credit : https://www.pinterest.com/pin/447615650435294761/

พิษงูกะปะส่งผลต่อระบบใด 

pit organs หรือหลุมที่คอยจับรังสีอินฟาเรดจะอยู่ใต้บริเวณใต้ตา และเหนือปาก คอยจับความร้อนหรืออุณหภูมิของเหยื่อ แต่ก็ยังอาศัยใช้ดวงตาและลิ้นในการทำงานร่วมกัน ยิ่งสัมผัสถึงระยะของเหยื่อได้อย่างแม่นยำ  

 

เขี้ยวงูกะปะเป็นบานพับ สามารถพับเก็บได้เมื่อไม่ได้ใช้ และจะแผ่ออกมายาวเมื่อต้องการจะกัดเหยื่อหรือศัตรู การกัดของงูกะปะ จะมีการเดินเขี้ยว คือการขยับเขี้ยวไปซ้าย-ขวา ทำให้เกิดบาดแผลได้มากกว่า 2 เขี้ยว และอาจสร้างความสับสนได้ เมื่อทำการตรวจสอบแผลเพื่อเช็คชนิดงูที่กัด ในการให้การรักษาที่เหมาะสม บางคนอาจสงสัยว่าแล้วเขี้ยวยาวขนาดนั้นจะไม่เผลอโดนลิ้นหรือแทงในปากงูเองบ้างเปล่า ด้วยอย่างที่บอกว่าเขี้ยวของงูกะปะเป็นบานพับ เวลาปกติปากของเขาจะหุบ ไม่มีการยืดออก เขี้ยวก็จะไม่มีการยืดออกมาใช้ และเหงือกสีขาวๆบางๆที่หุ้มอยู่ จะช่วยรักษาเขี้ยวของเขาไม่ให้กระทบภายในปาก 

 

หลายๆคนที่คิดว่าใส่รองเท้าบูทแล้วน่าจะป้องกันได้ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป เนื่องจากเขี้ยวงูกะปะยาวและแหลมคมมาก สามารถกัดทะลุเนื้อรองเท้าบูทได้ หลายเคสที่เป็นคนถูกงูกะปะกัดทั้งที่ใส่รองเท้าบูทหรือรองเท้ายางเพื่อกันสัตว์มีพิษกัด 

 

พิษของงูกะปะมีผลต่อระบบเลือดขั้นรุนแรง เกิดภาวะ compartment syndrome คิอการเกิดความดันของเนื้อเยื่ีอสูงขึ้นจนหลอดเลือดถูกกดทับ จนเลือดไหลเวียนไม่ได้ มีอาการบวม อวัยวะที่ถูกกัดก็จะเน่าและตาย ทำให้คนที่กัดหลายคนที่ต้องเสียอวัยวะไป ต้องตัดนิ้ว ตัดแขน ตัดขา เพราะถูกงูกะปะกัด แล้วเนื้อตาย ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ก็ต้องตัดส่วนนั้นออกไป หรือหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ที่โดนกัดอาจจะเสียชีวิตได้ จากความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากการเสียเลือด 

 

งูกะปะกัด อาการจะมีดังนี้ 

บริเวณที่ถูกกัดจะบวมภายใน 2-3 ชั่วโมง และบวมขึ้นเรื่อยๆ ใน 24 – 72 ชั่วโมง โดยแผลและบริเวณใกล้เคียงที่ถูกกัดจะมีสีคลํ้าขึ้น ห้อเลือด มีตุ่มใส และมีรอยพอง ถ้ามีรอยพองขนาดใหญ่หลายแห่ง หรือเกิดห่างจากที่กัดแสดงว่าได้รับพิษเข้าไปมาก และรอยพองจะมีการแตกออก

 

จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และเข้มขึ้นจนคล้ำ และเมื่อแห้งลง ก็จะกลายเป็นเนื้อตาย แผลเนื้อตายค่อย ๆ เปื่อยเน่าหลุดออกไปเรื่อย ๆ กว่าแผลจะหายกินเวลานานเป็นเดือน

 

สมุนไพรแก้งูกะปะกัด

ต้นโลดทะนงแดง หมาก และ มะนาว  อ้างอิงมาจากหลักการของแพทย์พื้นบ้าน “หมอเอี๊ยะ สายกระสุน” หมอพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพรรักษาพิษงู และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน จนมีการทำงานร่วมกันระหว่างหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว 

 

โดย นพ.อภิสรรค์ ได้เล่าว่า เมื่อมีคนถูกงูกัดถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาล หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าคนไข้ถูกงูพิษกัด หมอเอี๊ยะจะเป็นผู้ทำการรักษาด้วยสมุนไพรรักษาพิษงูซึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิดคือ รากต้นโลดทะนงแดง หมาก และมะนาว 

 

วิธีการรักษาด้วยสมุนไพรของหมอเอี๊ยะ

นำรากต้นโลดทะนงแดงและหมากนำมาฝนผสมกับน้ำประมาณครึ่งแก้วให้คนที่ถูกงูกะปะกัดได้ดื่ม แล้วนำรากต้นโลดทะนงแดงและหมากนำมาฝน โดยใช้น้ำมะนาวเป็นตัวประสานยา จากนั้นใช้ทาบริเวณแผลที่ถูกกัด จากนั้นหมอเอี๊ยะจะติดตามอาการเช้า-เย็น จนกว่าจะมีอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาล เป็นการดูแลรักษาแบบผสมผสาน ระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน และหมอเอี๊ยะ หมอพื้นบ้าน

 

ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หรือน้ำด่างทับทิม ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง เช็ดแผล

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ไม่ต้องเน้นเรื่องการขันชะเนาะ แต่ให้เน้นเรื่องการเคลื่อไหว พยายามอย่าเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ และถ้าให้ดีก็ฟอกด้วยสบู่ แล้วล้างให้สะอาด ก่อนซับให้แห้ง ปลดพันธนาการบริเวณที่ถูกงูกัดออกให้หมด เช่น รองเท้า ถุงเท้า ถอดนาฬิกา แหวน เพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดการกดทับ และขวางทางเดินของเลือด แล้วผ้าอีลาสเทนหรือผ้ายืดพันแผล จากนั้นใช้ไม้หรือเฝือกดามล็อคข้อบริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะ เพราะพิษไม่ได้กระจายเข้าสู่หัวใจ แต่พิษจะกระจายสู่อวัยวะ หากอวัยวะส่วนที่ถูกกัดมีการเคลื่อนไหวมากเท่าไร พิษก็จะกระจายได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่อย่ารัดให้แน่นหรือหลวมเกินไป แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด 

 

กรณีที่ถูกงูกะปะกัด การรัดบริเวณเหนือบาดแผลที่ทุกคนเข้าใจนั้น จะไม่เป็นผลดีหากเป็นงูกะปะกัด เนื่องจากว่างูกะปะพิษต่อระบบเลือด ยิ่งไปรัดก็ยิ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เป็นการให้พิษค้างอยู่แค่บริเวณอวัยวะที่ถูกกัด ทำให้พิษทำลายแต่ส่วนเนื้อบริเวณที่ถูกรัด จนส่งผลรุนแรงให้เนื้อตาย แต่ถ้าปล่อยให้พิษกระจายไปกับกระแสเลือดช้าๆ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของพิษ ปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง และรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด 

 

ถึงแม้ไม่รู้ว่าถูกงูชนิดใดกัด ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน แม้ว่าการรัดเหนือบริเวณแผลที่ถูกกัดจะเป็นวิธีที่ใช้กันมาแต่โบราณ ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีที่ผิด เพียงแต่หากยิ่งทำการรัด ต่อให้รัดไม่แน่น แต่การรัดจะทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณที่ถูกรัดไม่ได้ เช่น ถูกกัดที่เท้าและรัดเหนือเข่า ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อส่วนขาไม่ได้ เนื้อบริเวณนั้นจะตายและต้องตัดขาทิ้ง และหลายเคสที่ถูกงูกะปะกัดแล้วต้องเสียอวัยวะไปเพราะการปฐมพยาบาลจากความไม่รู้ ปัจจุบันมีวีธีที่

 

ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องนำงูไปโรงพยาบาล แต่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปงูไว้ ส่วนที่เคยรู้หรือเรียนมาเรื่องการใช้เชือกมัดเหนือปากแผล จะใช้ไม่ได้ผลและส่งผลร้ายแรง หากงูที่กัดเป็นงูมีพิษต่อระบบเลือด 

 

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อโดนงูกัด

 

  • อย่าขันชะเนาะ แต่ให้ใช้วิธีดามเหมือนเข้าเฝือกแทน เพื่อลดการเคลื่อนไหวอวัยวะ
  • ห้ามใช้มีดกรีดบาดแผล ก็ไม่ได้ช่วยอะไร จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค 
  • ห้ามใช้ไฟหรือไฟแช็คลนบาดแผล เพราะไฟจะยิ่งทำให้แผลพุพองและรักษายากมากขึ้น 
  • ห้ามใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล พอกแผล เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อ
  • ไม่ควรใช้ปากดูดเลือดจากแผลงูกัด เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดได้
  • ห้ามให้ผู้ถูกงูกัดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน

 

การป้องกัน พยายามคอยสังเกตเสมอหากเดินไปบริเวณแถวพงหญ้า หรือที่มีใบไม้แห้งกองสุม เมื่อต้องเข้าไปในบริเวณที่สุ่มเสี่ยง เช่น เข้าสวนยาง สวนปาล์ม ฯลฯ ก็ให้ใส่รองเท้าบูทเนื้อหนาๆ รองเท้าบูทคุณภาพดี ใช้ไม้คอยแกว่งๆไปตามพื้น เพื่อจะได้สังเกตความเคลื่อนไหวได้ หากมีงูพรางตัวอยู่ใต้พุ่มหญ้า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าออกไปเดินที่ไหนตอนกลางคืน และถ้าหากมีงูเข้าบ้าน อย่าพยายามจับงูด้วยตนเอง แต่ให้โทรแจ้ง 199 / 1677 เจ้าหน้าที่กู้ภัย หน่วยอาสา หรือผู้เชี่ยวชาญ และระหว่างรอเจ้าหน้าที่ ให้คอยสังเกตและเฝ้าดูงูไว้อย่าให้คลาดสายตา ยิ่งช่วงฤดูฝนต้องยิ่งคอยสังเกตบ้านเรือนให้ดี อย่าปล่อยให้รกดึงดูดหนูเข้าบ้าน และอาจเป็นการเชื้อเชิญงูมาล่าเหยื่อถึงในบ้านเราได้

tt ads