tt ads

สุขภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก หากสภาวะสุขภาพไม่ดี ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงความเจ็บปวดทางร่างกาย สุขภาพจิต ค่าใช้จ่าย และการสูญเสีย การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่โรคบางชนิดก็อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้จะเป็นนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงก็ตาม

 

บทความนี้จะมารู้จักถึงโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง นั่นก็คือ Stroke หรือโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นโรคที่น่าห่วงมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการบอกล่วงหน้า แต่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่หรือไม่ ดังนั้นบทความนี้เราจะมารู้จักและวิธีสังเกตอาการ เพื่อจะได้ป้องกันได้ทัน ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และควบคุมหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองกันดีกว่า

 

โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะการขาดเลือดของสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นไม่ได้ ส่งผลให้เนื้อสมองบริเวณนั้นถูกทำลาย เนื่องจากขาดออกซิเจนและสารอาหาร ปกติสมองของคนเราจะมีการเชื่อมโยงในการทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย เมื่อสมองส่วนใดเกิดผิดปกติหรือถูกทำลาย จะส่งผลต่อหน้าที่การทำงานของอวัยวะในระบบส่วนนั้นด้วย 

โรคหลอดเลือดสมองอาการที่ส่งผลต่อสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวากระทบกับส่วนใด

1.โรคหลอดเลือดสมองซีกซ้าย 

ส่งผลการเป็นอัมพาตครึ่งตัวด้านขวา ปัญหาด้านการพูด การสื่อสาร การกลืน เสียการมองเห็นภาพซีกขวา สูญเสียการทรงตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้า  

 

2.โรคหลอดเลือดสมองซีกขวา 

ส่งผลการเป็นอัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย สูญเสียการตัดสินใจ เสียการมองเห็นภาพซีกขวา สูญเสียการประเมินขนาดและระยะทาง

 

แต่ถ้ามีความเสียหายในส่วนก้านสมอง Cerebellum เพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เสียการทรงตัว เวียนศีรษะ หรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้หมดสติได้ การประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง สามารถประมาณได้จากการสูญเสียระบบการทำงานของร่างกาย 

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร

โรคหลอดเลือดสมองสาเหตุเกิดได้หลายสาเหตุ และสามารถเกิดได้กับทุกวัย แต่จะมี 3 สาเหตุหลักๆ เกิดจาก … ตีบ ตัน แตก 

 

1.เส้นเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) 80% ของสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมอง การสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงในส่วนที่เกิดปัญหาและอวัยวะในส่วนอื่นๆได้สะดวก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอลล์ และภาวะโรคอ้วน 

 

2.เส้นเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) หลอดเลือดในสมองอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนต่างๆของร่างกายไหลรวมมาอุดเป็นก้อนขวางทางหลอดเลือดส่วนใดส่วนหนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation โรคของลิ้นหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะหัวใจโต ส่วนสาเหตุอื่นๆก็พบได้เช่นกัน เช่น การสะบัดคอแรงๆ การเล่นกีฬาผาดโผนเอ็กซ์ตรีม การใช้งานกล้ามเนื้อคออย่างหนัก รวมไปถึงหลอดเลือดดำอุดตัน อาทิเช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิด เป็นต้น   

 

3.เส้นเลือดในสมองแตก / เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง และมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ทำให้เกิดการโป่งพองและแตกออก หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันแล้วปริแตก ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงฉับพลัน และเลือดออกภายในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ 

อาการของโรคที่พบได้บ่อย 

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก 
  • ตาตก ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก ตาบอดข้างเดียว  
  • ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก 
  • พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก 
  • เป็นอัลไซเมอร์ระยะสั้น 
  • สูญเสียการควบคุมการทรงตัว เดินเซ 

 

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 

  • ผู้สูงอายุ 
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต 
  • ผู้มีภาวะอ้วน 
  • ผู้ป่วยเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง 
  • ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ  โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือด แล้วหลุดไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ประจำ หรือสูบบุหรี่จัด
  • ผู้ที่กินฮอร์โมนเพศ การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

 

F A S T คำจำกัดความที่ควรจำและทำเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว เพื่อลดโอกาสความพิการและการเสียชีวิตของผู้ป่วย

 

  • (Facial Weakness) ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ริมฝีปากตก 
  • (Arm Weakness) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก 
  • (Speak) พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก 
  • (Time) เมื่อเกิดอาการข้างต้น ให้รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือติดต่อสายด่วน 1669 

 

เมื่อมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว กระทันหัน หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรืออาการคล้ายจะเป็นอัมพาต จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะสมองของผู้ป่วยมีโอกาสตายมากขึ้นเรื่อยๆในทุกๆวินาที ต้องรีบใช้เวลาในการไปพบแพทย์โดยเร็ว ห้ามรอดูอาการ เพราะทุกนาทีคือความปลอดภัยต่อชีวิต เมื่อไปถึงโรงพยาบาล จะต้องรีบแจ้งว่าอาจเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต เพื่อให้แพทย์รีบทำการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ห้ามนวด และห้ามซื้อยาทานเอง 

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง  

แนวทางการรักษาจะแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง ว่าเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก 

 

หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน การรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยมีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองและรีบไปโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง

 

หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด การรักษาคือ รักษาระดับความดันโลหิต เพื่อควบคุมปริมาณเลือดที่ออก แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดในกรณีที่มีเลือดออกมาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมอง ที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต

 

นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษากับผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ ซึ่งจะต้องใช้ยาพวกนี้ในระยะเวลานานต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และจะต้องมีการติดตามผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของลิ่มเลือดไหลไปอุดตันตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตีบและขาดเลือด รวมไปถึงภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาผิด อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

ยาโรคหลอดเลือดสมอง

โดยส่วนใหญ่แล้วจะมียา 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  • ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น Warfarin , Apixaban , Dabigatran , Edoxaban , Rivaroxaban
  • ยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เช่น Aspirin , Cilostazol , Clopidogrel , Prasugrel , Ticagrelor

 

กรณีที่ลืมทานยา ให้รีบทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากนึกได้ตอนใกล้เวลามื้อยาถัดไป ก็ทานยาในมื้อถัดไปตามปกติ ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเองทดแทนในมื้อที่ลืมทาน

 

อาการข้างเคียงจากการทานยาที่ควรไปพบแพทย์ 

แม้ว่ายากลุ่มนี้จะมีผลดีต่อผู้ป่วย ก็มีผลเสียและอาการข้างเคียงเช่นกัน ดังนั้นควรสังเกตหลังจากรับประทานยาแล้วเกิดอาการต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ 

  • ภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดออกในตาขาว เลือดออกตามไรฟัน
  • มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะ อุจจาระออกสีเข้มไปจนถึงสีแดง 

 

เส้นเลือดในสมองตีบรักษาหายไหม  เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว แม้จะได้รับการรักษา แต่ก็จะหลงเหลือความผิดปกติไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับความเสียหายของหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ความสำคัญในส่วนที่เสียหาย สุขภาพของร่างกาย และระยะเวลาที่ได้รับการรักษาเร็วแค่ไหน หากได้รับการรักษาเร็ว ความเสียหายเกิดขึ้นได้น้อย ก็สามารถกลับคืนสภาพปกติได้มาก แต่ก็อาจไม่ถึง 100% และผู้ที่เคยป่วยและอาการดีขึ้นหรือหายเกือบปกติแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่อาจจะเป็นซ้ำได้ 

 

*ติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล หรือถ้าจะเดินทางไปโรงพยาบาลเอง จะต้องมั่นใจว่ามีความปลอดภัย และไม่กระทบกระเทือนจนอาจส่งผลต่อผู้ป่วย*

 

**โรคหลอดเลือดสมองการรักษาต้องเร่งด่วน เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรง อาจทุพลภาพและถึงแก่ชีวิตได้ จึงเข้าทำการรักษาโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้**

 

ข้อควรจำ

ห้ามนวด ห้ามรอ ห้ามซื้อยาทานเอง 

 

tt ads