tt ads

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากจะได้รับการรักษาจากแพทย์ด้วยยาที่เหมาะสมตามดุลพินิจของแพทย์แล้ว “กายภาพบำบัด” ก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน 

 

ลักษณะอาการที่พบบ่อยของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

  • อัมพาตอ่อนแรง ขยับแขนขาได้น้อยหรือไม่ได้เลย 
  • ปากเบี้ยว น้ำลายไหล พูดไม่ชัด
  • กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก 
  • แขนขาข้างที่อัมพาต ไร้ความรู้สึกเมื่อโดนของมีคม หรือของร้อน
  • กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่อ่อนแรง ทำให้ข้อไหล่หลวมหรือหลุด 
  • แขนขามีอาการปวดและบวม เนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน
  • ดูดกลืนน้ำและอาหารลำบาก อาจทำให้เกิดการสำลัก และอาหารเล็ดลอดเข้าปอด เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอักเสบได้

 

อาการต่างๆเหล่านี้ควรมีการบำบัดอย่างถูกวิธี ได้รับการรักษาโดยแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทโดยตรง รวมถึงแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และ นักกิจกรรมบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้เต็มที่

สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัด คือ หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการคงที่ ซึ่งในช่วง 13 เดือนแรกหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เนื่องจากสมองในส่วนที่เสียหายกำลังมีการฟื้นตัว จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มทำกายภาพบำบัด และฝึกฝนเรียนรู้การเคลื่อนไหว หลังจากนั้นการฟื้นตัวจะช้าลง และเข้าสู่การปรับตัวของเซลล์สมองที่เหลืออยู่ หากได้รับการฝึกที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม สมองสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามีการฝึกที่ผิดวิธี หรือไม่มีการฝึกฝนเลย การฟื้นตัวหลังจากนั้นก็จะช้าลง ซึ่งไม่ใช่เพราะผลจากสมอง แต่เป็นเพราะความเคยชินของโครงสร้างร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยไม่มีการพัฒนา และจะแก้ไขปัญาหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นอัมพาต หรือต้องพิการถาวร 

การรักษากายภาพบำบัดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประกอบไปด้วย 

 

การยืดกล้ามเนื้อ  เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ สูญเสียความยืดหยุ่น เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการหดรั้ง จึงต้องทำการรักษาด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเกร็งและให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น 

 

การดัดและขยับข้อต่อ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้ขยับร่างกายเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน หรือการลงน้ำหนักเวลาเดิน และไม่ได้รับการฟื้นฟู ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เนื่องจากข้อต่อผู้ป่วยยึดติดกัน จากการไม่มีการเคลื่อนไหวของอวัยวะนานๆนั่นเอง ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟื้นฟูและทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมตามอาการของโรค เพื่อให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้มากที่สุด

 

เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องมีการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังกายตามอาการของโรค เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด

 

ฝึกเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ทำให้การขยับเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนท่าทางได้ลำบาก เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อสองด้านไม่สมดุลกัน การทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับอาการ เช่น การฝึกตะแคงตัว การฝึกลุกจากที่นอนขึ้นมานั่ง การฝึกลุกยืน เป็นต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากยิ่งขึ้นจนเกือบเป็นปกติ หรือบางกรณีก็สามารถเป็นกลับมาเป็นปกติ 

 

ฝึกการทรงตัว เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในการทรงตัว หรือบางรายอาจมีการสูญเสียความรู้สึก ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทรงตัว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะล้มได้ง่าย ผู้ป่วยจึงต้องฝึกการทรงตัวทั้งในท่านั่ง ท่ายืน และท่าเดินเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการทรงตัวของผู้ป่วย และยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการล้มได้

 

ฝึกเดิน  “การเดิน”เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการวิเคราะห์ระดับอาการ ให้ได้รับบำบัดและออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีการเดินยักสะโพก เพื่อทดแทนในการเคลื่อนไหว โดยทุกขั้นตอนจะอยู่ในการพิจารณาของแพทย์ และนักกายภาพบำบัด

ฝึกการหายใจ  เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีกลุ่มกล้ามเนื้อในการช่วยหายใจอ่อนแรง ส่งผลให้ เหนื่อยง่าย และหายใจได้ไม่ลึก แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยฝึกการหายใจได้อย่างถูกต้อง 

 

การบำบัดเพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ตามอาการต่างๆ 

ปัญหาแขน-ขาอ่อนแรง 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในช่วงแรก มักจะมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือข้อต่อยึดติด หากไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน และเมื่อสมองที่ถูกทำลายได้กลับฟื้นตัวขึ้น แต่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับข้อต่อในส่วนนั้นได้ จึงต้องมีการกระตุ้นกล้ามเนื้อ เพื่อให้กลับมาทำงานได้ปกติ โดยการทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ให้ฟื้นตัวได้มากขึ้น และป้องกันข้อต่อยึดติด ด้วยการบริหารข้อ ฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน ฟื้นฟูด้วยการทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวเอง เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า ฝึกนั่ง ยืน เดิน ขึ้นลงบันได และการจัดท่านอนให้ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 

 

ปัญหาด้านการกลืน 

ผู้ป่วยในระยะแรกจะยังดูดกลืนอาหารไม่ได้ ควรให้อาหารทางสายยางก่อน เมื่ออาการดีขึ้น จึงฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ฝึกกลืน เมื่อผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารเองได้อย่างปลอดภัย จึงพิจารณาในการเลิกให้อาหารทางสายยาง

ปัญหาการสื่อสาร

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซีกซ้าย จะส่งผลต่อการเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตด้านขวา เสียการควบคุมด้านการพูดและการสื่อสาร ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง พูดไม่ได้ ใช้คำผิด จึงควรให้ผู้ป่วยได้รับการฝึกออกเสียง เพื่อให้สื่อสารได้มากที่สุด

 

ปัญหากล้ามเนื้อเกร็ง

อาการเกร็งจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับสภาพของสมองผู้ป่วย ซึ่งอาการเกร็งนี้เองที่จะเป็นอุปสรรคในการรักษา และยังทำให้ข้อต่างๆยึดติดกัน การรักษาจะมีหลายวิธี แต่ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น การใช้เครื่องมือทางกายบำบัด การใช้อุปกรณ์เสริม การออกกำลังเคลื่อนไหวข้อ การกำจัดสิ่งกระตุ้นอาการเกร็ง การฉีดยาลดเกร็ง และการจัดท่านอนที่ถูกต้องสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง  

 

การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย

 

กรณีผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลควรช่วยพลิกตะแคงผู้ป่วยทุกๆ 12 ชั่วโมง คอยฝึกให้ผู้ป่วยลุก-นั่ง ยืดเหยียดข้อต่อต่างๆ เพื่อช่วยยืดเหยียดข้อต่อต่างๆ 

 

กรณีผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พยายามให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง และฝึกกายบริการโดยมีผู้ดูแล

 

กรณีที่ผู้ป่วยเดินได้ ให้ผู้ป่วยฝึกเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน และฝึกในพื้นที่ปลอดภัย ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแล

 

กรณีที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือมีอาการคงที่ สามารถที่จะรับการตรวจจากแพทย์ และคำแนะนำด้านการฟื้นฟูผ่านระบบโทรเวชกรรม เพื่อทดแทนการเดินทางไปโรงพยาบาลได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา

 

แต่สำหรับผู้ป่วยทุกกรณี จะเน้นในการดูแลด้านจิตใจและอารมณ์ ไม่ควรกดดันในการฝึกหรือการทำกายบริหารต่อผู้ป่วย ควรให้กำลังใจ และให้ผู้ป่วยทำเมื่อพร้อม เพื่อหลีกเลี่ยงในการสร้างความความเครียดต่อผู้ป่วย

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังจากได้รับการรักษาและกลับมาพักฟื้นที่บ้าน จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจเป็นนักกายบำบัด นักกิจกรรมฟื้นฟู หรือญาติผู้ป่วยที่ได้รับการฝึกฝนวิธีดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ซึ่งทั้งหมดนี้แพทย์ที่ทำการรักษาจะเป็นผู้วิเคราะห์และให้คำแนะนำกับญาติ ก่อนจะส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน 

อย่าลืมว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีความเสี่ยงต่อหลอดเลือดสมองปริหรือแตกได้ ดังนั้นจะต้องคอยดูแลและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงอย่าสร้างความกดดันและความเครียดกับผู้ป่วย และหากได้รับการฟื้นฟู รักษาอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับอาการ และรวดเร็ว ก็จะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายหรือกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

tt ads