tt ads

เมื่อสัตว์เลี้ยงหายตัวไป เจ้าของย่อมเป็นห่วงและกังวลสารพัด เกรงจะได้รับอันตราย ไม่ว่าจะอุบัตเหตุหรือถูกทำร้าย การกินอยู่หลับนอนจะลำบาก ออกตามหาเท่าไรก็ไม่เจอ เจ้าของยิ่งเป็นทุกข์ มีเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่มากนักที่จะโชคดีสามารถได้สัตว์เลี้ยงของตนกลับคืนมาโดยสวัสดิภาพ แต่มีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากที่โชคร้ายไม่ได้กลับบ้านอีกเลย 

 

การฝังไมโครชิพ ที่หน่วยงานกรุงเทพมหานครได้ออกกฏแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง ไม่เพียงเพื่อลดปัญหาจำนวนสัตว์จรจัด แต่ยังช่วยตามหาเจ้าของจากไมโครชิพ เพิ่มโอกาสให้เจ้าของได้พบสัตว์เลี้ยงของตนเร็วขึ้นด้วย 

 

แต่การฝังไมโครชิพยังไม่นิยมเท่าไร เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับไมโครชิพคืออะไร ทำไมต้องฝังไมโครชิพแมวหรือสุนัข แล้วไมโครชิพทำมาจากอะไร ปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยงแค่ไหน การฝังไมโครชิพสุนัขราคาแพงไหม และฝังไมโครชิพแมวที่ไหนได้บ้าง 

ภาพจาก : https://tractive.com/

 

ไมโครชิพคืออะไร

ไมโครชิพ หรือ Microchip คือ บัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยง ที่ทำมาจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กประมาณเมล็ดข้าว ซึ่งบรรจุอยู่ในครอบแก้วที่มีตัวเลขรหัส 15 หลักกำกับไว้ โดยแต่ละอันจะมีรหัสไม่ซ้ำกัน และผ่านการทดสอบว่าไม่ทำปฏิริยาที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ก่อนที่จะนำไปใช้ในการฝังไมโครชิพให้กับสัตว์เลี้ยง เช่น ฝังไมโครชิพสุนัข แมว หรือ นก เป็นต้น โดยรหัสไมโครชิพมาตรฐาน ISO และ ICAR ที่รองรับให้ใช้ในการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงได้ จะต้องเป็นไมโครชิพ 15 หลักที่ขึ้นต้นด้วย 9 เท่านั้น และจะต้องใช้เครื่อง Microchip Reader เพื่ออ่านรหัสไมโครชิพ

 

ไมโครชิพทำอะไรได้บ้าง

สำหรับไมโครชิพ หน้าที่คือ เชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของสัตว์เลี้ยง เช่น เพศ สายพันธุ์ อายุ สี ตำหนิ รวมถึง ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรเจ้าของ รวมถึง ข้อมูลหน่วยงานที่ฉีดไมโครชิพ เมื่อน้องหมา น้องแมว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ที่มีการฝังไมโครชิพได้หลุดหายไป หากมีผู้พบเห็นและนำตัวไปให้ศูนย์ติดตั้งไมโครชิพตรวจสอบหหมายเลขในระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ก็จะสามารถติดต่อหาเจ้าของได้ 

การฝังไมโครชิพมีประโยชน์อย่างไร 

  • ป้องกันสัตว์เลี้ยงสูญหาย 
  • ป้องกันการสลับตัวสัตว์เลี้ยง 
  • ป้องกันการซื้อขายผิดตัว 
  • พัฒนาสายพันธ์ุ 
  • ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง
  • ใช้ในการขอเพดดีกรี 
  • ใช้ในการลงทะเบียนสำหรับการประกวด
ภาพจาก : https://www.bbc.com/

การฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงทำอย่างไร และมีผลข้างเคียงไหม 

การฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยง คือ การฉีดฝังไมโครชิพจะทำโดยใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยก๊าซ Ethylene Oxide ฉีดไมโครชิพเข้าไปใต้ผิวหนังตรงกลางระหว่างหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้กันเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก และไมโครชิพจะฝังอยู่ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงตลอดชีวิต โดยไม่มีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง 

 

เริ่มฝังไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยงได้เมื่อไร 

สามารถเริ่มฝังไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยงได้ตั้งแต่อายุประมาณ 30-45 วัน หรือช่วงอายุ 5-6 เดือนก็ได้เช่นกัน 

 

ภาพจาก : https://highlandcanine.com/

ฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงเองได้ไหม 

แม้ว่าการฝังไมโครชิพจะมีความปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ต่อสัตว์เลี้ยง แต่ความสะอาดของอุปกรณ์และขั้นตอนการฉีดฝังไมโครชิพนั้นสำคัญมาก ๆ หากเข็มสกปรกจะทำให้เกิดฝีได้ หรือชิพไม่ได้มาตรฐานก็อาจส่งผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น การฝังไมโครชิพควรทำโดยสัตว์แพทย์เท่านั้น 

 

การฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงจำเป็นหรือไม่ 

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ทั่วไปในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว ที่มีการใช้ปลอกคอก็สามารถใส่ชื่อและเบอร์โทรเจ้าของก็อาจสะดวกกว่าการฝังไมโครชิพ เพราะคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีการฝังไมโครชิพ อีกทั้งจุดที่สามารถสแกนไมโครชิพได้นั้นมีน้อยมากในบ้านเรา ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่มีการฝังชิพสัตว์เลี้ยงกันแพร่หลาย เมื่อพบสัตว์พลัดหลงก็จะนำตัวไปสแกนฐานข้อมูลได้แทบทุกที่ แต่ถ้าใครจะนำสัตว์เลี้ยงเดินทางไปต่างประเทศ หรือเลี้ยงสัตว์สายประกวด อาจจำเป็นต้องฝังไมโครชิพเพื่อใช้ในการลงทะเบียนประกวด และป้องกันการสลับตัวที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ฝังไมโครชิพเพื่อใช้ติดตามตัวสัตว์เลี้ยงได้ไหม 

ไมโครชิพเป็นเสมือนบัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยง ที่มีข้อมูลของสัตว์และเจ้าของเท่านั้น ไม่มีเรดาร์หรือสัญญาณจึงไม่ใช่ไมโครชิพติดตามตัว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไมโครชิพไม่ใช่เรดาร์ติดตามตัวสัตว์เลี้ยง และยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่การฝังไมโครชิพให้กับสัตว์เลี้ยงของเราไว้ก็ไม่เสียหาย เผื่อปลอกคอที่มีชื่อและเบอร์โทรเจ้าของหลุดหายไป อย่างน้อยก็สามารถตามหาเจ้าของได้ด้วยการสแกนไมโครชิพ ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่รู้เรื่องการฝังชิพ แต่ยังมีผู้รู้ท่านอื่น ๆ รวมไปถึงสัตว์แพทย์ ที่อาจช่วยให้เราได้สัตว์เลี้ยงกลับคืนมาได้อย่างปลอดภัย 

tt ads