tt ads

โลกของการทำงาน ไม่ว่าใครก็ต้องการความสำเร็จ ไม่ว่าจะสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่ สำเร็จในงานที่ได้รับมอบหมาย สำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ซึ่งทฤษฎีความสำเร็จนั่นมีมากมายหลายสูตร ในการนำมาใช้แก้ปัญหา เพื่อให้สมปรารถนาที่มุ่งหวังและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้สำเร็จทุกคน ถ้าอย่างนั้นเรามาดูธรรมะที่ใช้ในการทำงาน ดังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ นั่นคือ อิทธิบาท 4  

อิทธิบาท 4 คือ เครื่องมือแห่งความสำเร็จ เป็นข้อธรรมะสำหรับไว้ใช้ในการงาน และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกกิจกรรม เพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยมีหัวข้อธรรม 4 ประการที่ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และอิทธิบาท 4 ภาษาอังกฤษที่จะให้มีความหมายใกล้เคียงที่สุดก็จะเป็นคำ Basis for success หรือ Basis of Power and Potency

ข้อธรรมอิทธิบาทนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทยหรือเพียงแค่ผู้นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับการนำไปยึดถือปฏิบัติได้ทุกเชื้อชาติและทุกศาสนาทั่วโลก เพราะเป็นข้อธรรมที่ไม่จำกัด แต่ไว้เป็นหลักในการปฏิบัติกับทุกกิจการงาน ดังนั้นเราอาจจะมีคำภาษาอังกฤษประกอบไว้เล็กน้อยสำหรับใครที่ต้องการจะแนะนำเพื่อนต่างชาติได้รู้จักและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 

หลักธรรมอิทธิบาท 4 (Effective means to attain successes)

1.ฉันทะ (Passion / Aspiration) มีใจรัก ศรัทธา และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ 

ฉันทะ แปลว่า ความรัก ความรักความพอใจในงานที่ทำ ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรจะมีในการทำสิ่งใดก็ตาม นั่นคือความรักในสิ่งนั้น หากลองสำรวจตัวเองและตั้งคำถามง่ายๆว่ารักในงานที่กำลังทำอยู่หรือไม่  มีความพอใจในสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าหรือเปล่า มาทำงานเพื่ออะไร มีความสุขกับสถานการณ์ของงานแค่ไหน หากไม่มีความสุขกับงานที่ทำ อาจลองปรับศรัทธาของตนให้เข้ากับงานที่ทำ หรืออาจปรับเปลี่ยนหนทางในสิ่งที่ตนรักหรือมีความชำนาญ  

แต่เชื่อเถอะว่างานทุกอย่างไม่มีใครชื่นชอบไปหมดทุกคน อาจทำด้วยต้องเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว หรือทำเพื่อให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ หรืออาจทำเพื่อรับรองสถานะบางประการ แต่อาจมีหลายคนโชคดีที่ได้ทำงานที่รักที่สนใจอยู่แล้ว ทำให้งานออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ  แต่ผู้คนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้โชคดีเช่นนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่งานที่รัก แต่ก็พยายามที่จะปรับมุมความคิด สร้างความพอใจให้กับตัวเองในการทำงานได้ อาจด้วยวิธีต่างๆ อาทิเช่น การมีงานทำย่อมดีกว่าไร้งาน ไร้เงินเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัว ยังมีคนอีกมากมายที่ดิ้นรนเพื่อให้มีงานทำ ฯลฯ หากตอนแรกยังคงไม่มีความพอใจงาน แต่การหมั่นคิดดีและสร้างความพอใจให้ตนเองสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ก้าวข้ามความไม่ชอบ และอาจพึงพอใจและรักในงานตรงหน้าได้สักวัน เพราะการทำงานด้วยความพอใจในสิ่งที่ทำ ผลงานย่อมออกมาดีเสมอ 

2.วิริยะ (Diligence / Effort) ความอดทนอดกลั้น พยายามทุ่มเท 

วิริยะ คือ ความเพียร ความขยันหมั่นเพียรกับงานหรือสิ่งที่ทำ เพราะทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความขยัน ความเพียรพยายามในงานที่ทำอยู่ เพื่อให้บรรลุไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ ยิ่งมีความขยันเท่าไร งานก็จะสำเร็จได้เร็วขึ้น ซึ่งข้อนี้จะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมาก ในการที่จะไม่ละทิ้งความพยายาม แม้จะเจออุปสรรคใดๆ ดังนั้นวิริยะจึงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะพาคุณไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ แต่ความเพียรนี้ก็ต้องอาศัยข้อฉันทะ ความรักเข้ามาเป็นที่ตั้งด้วยจึงจะเกิดความเพียรนี้ได้เต็มร้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความขยันไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย ทำงานแบบไม่คำนึงถึงสุขภาพตนเอง ทำงานจนไม่พักผ่อน แบบนั้นไม่ได้เข้าในข้อวิริยะ เพราะความเพียรนี้คือการฝึกฝนตนเอง และสร้างความกระตือรืนร้นให้ตนเองแบบมีสติ เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น 

เฉกเช่นพระมหาชนก หนึ่งในงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องของความเพียรพยายาม จาก “มหาชนกชาดก”  ในพระไตรปิฎก โดยมีการปรับแต่งให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยในเรื่องเน้นถึงความเพียรของผู้เป็นหลานของกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ และมีพระนามเดียวกับผู้เป็นอัยกา(ปู่)ว่า “พระมหาชนก”  ซึ่งในเรื่องได้กล่าวถึงความวิริยะอุตสาหะของพระมหาชกที่พากเพียรในการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร 7 วัน หลังจากที่กำลังล่องเรือพาณิชย์อยู่ในมหาสมุทรแล้วต้องเจอกับคลื่นยักษ์จนเรืออับปาง ระหว่างที่มหาชนกทรงว่ายน้ำในมหาสมุทรก็มี “มณีเมขลา” เทพธิดาได้ทำการทดสอบความเพียรของพระองค์ต่างๆนาๆ และถามพระองค์ว่า 

  • มณีเมขลา : เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง แล้วจะยังพยายามว่ายทำไม?
  • มหาชนก  : เราตรองจากปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์แห่งความเพียร ต่อให้มองไม่เห็นฝั่ง เราก็จักพยายามให้สุดกำลัง แม้นว่าเราจักตายลง เราก็ตายด้วยความพยายามแล้ว บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จักตายลงก็จะไม่เป็นหนี้ครหาของบิดามารดา หมู่ญาติ และเทวดา อนึ่งบุคคลที่กระทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง 

และเมื่อมณีเมขลาทดสอบพระมหาชนกจนประจักษ์ถึงความเพียรของพระองค์ จึงได้ทำการอุ้มพระองค์และพาเหาะไปส่งยังเมืองมิถิลา…ซึ่งในเรื่องมหาชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรฯทรงพระราชนิพนธ์อย่างปราณีต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และเสริมสร้างแรงศรัทธาให้กับพสกนิกรให้มีความเพียรเป็นที่ตั้ง เพื่อใช้ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย ในทุกกิจกรรมและหน้าที่ และได้มีการนำเข้าสู่กระบวนการศึกษา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้หลักธรรมอิทธิบาท 4 กับการเรียน 

3.จิตตะ (Mind or Consciousness / Focus) ตั้งใจ เอาใจใส่ จดจ่อ และมุ่งมั่น 

จิตตะ คือ ความเอาใจจดใจจ่อ และรับผิดชอบในงานหรือสิ่งที่ทำให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ด้วยความซับซ้อนของสังคมในปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายแตกแขนงไปมากจนบางทีทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย ทำให้หลงทางไม่รู้จะทำอะไรก่อน-หลัง หรือการเป็นคนจับจด เอาแน่เอานอนไม่ได้ เบื่อง่าย ทำอะไรครึ่งๆกลางๆ จึงทำอะไรก็ไม่สำเร็จสักที ดังนั้น ควรใช้หลักข้อธรรมจิตตะ การมีใจจดจ่อเอาใจใส่ มีสมาธิ และมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำตรงหน้า ถ้าพูดกันง่ายๆคือ ล็อคเป้าหมายแล้วจดจ่อพุ่งตรงในงานตรงหน้า โดยไม่วอกแวกละทิ้งกลางทาง และรับผิดชอบดำเนินการให้สำเร็จ  ซึ่งข้อนี้ก็เหมาะมากสำหรับคนที่มีสมาธิสั้น ในการนำไปฝึกฝนตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต

4.วิมังสา (Investigation / retrospect) ไตร่ตรอง ทบทวน และทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำ 

วิมังสา คือ การไตร่ตรอง วิเคราะห์ ตรวจสอบ ทบทวน และทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะทำหรือการงานตรงหน้า ด้วยการคิด วิเคราะห์ และใช้ปัญญา เพื่อให้รู้แนวทางในการทำงานได้อย่างถูกต้อง และทบทวนในสิ่งที่ทำว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน ตรวจสอบว่าควรแก้ไข ปรับปรุงจุดด้อยตรงไหน เพื่อให้มีการพัฒนาในครั้งต่อไป   

ซึ่งวิมังสานี้ยังเป็นการนำการกระทำและคำพูด มาพิจารณาหรือไตร่ตรองในการที่พัฒนาต่อไป การศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาความรู้ที่มีอยู่เดิมให้แตกฉานหรือมีความชำนาญยิ่งขึ้น และข้อธรรมวิมังสานี้จะต้องใช้ปัญญาเป็นองค์ประกอบ เพื่อทำการพินิจพิเคราะห์ จึงจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเป็นความคิดในทางที่ถุกต้อง ถ้าเรียกง่ายๆตามยุคปัจจุบันคือการคิดในทางเชิงบวก เพราะถ้ามีความเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความคิดในทางเชิงลบ เช่น หากมีความเบื่อหน่ายในงานตรงหน้าที่ทำ และก็ใช้ความคิดทางลบมาส่งเสริมว่านอนก่อน แล้วค่อยทำเมื่อไรก็ได้ นั่นจะทำให้งานตรงหน้ามีความล่าช้าหรือไม่สำเร็จได้ เป็นต้น 

หลักอิทธิบาท 4 นี้ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะในด้านการเรียน แต่ยังใช้เป็นอิทธิบาท 4 ในการทํางาน หรือการใช้อิทธิบาท 4 กับการบริหารประเทศได้เช่นกัน เพราะในการทำสิ่งใดและในบทบาทใดก็ตาม หากขาดหลักอิทธิบาทธรรมข้อใดข้อหนึ่งไป ก็อาจทำให้งานไม่สำเร็จได้ 

ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยให้ข้อคติเตือนใจไว้ว่า “เพราะมีอิทธิบาท ๔ ไม่ครบ การงานจึงขาดๆวิ่นๆ” และท่านก็ยังได้แต่งกลอนสอนใจให้กับลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนดังนี้

อันที่จริง การงาน นั้นน่ารัก 

เมื่อยังไม่ รู้จัก ก็อางขนาง (ไม่ชอบ) 

ไม่รู้จัก ก็ปล่อยปละ แล้วละวาง 

บ้างร้องคราง เมื่อรอหน้า ว่าเบื่อจริง 

แต่ที่จริง การงาน นั้นน่ารัก 

สอนให้คน รู้จัก ไปทุกสิ่ง 

ถ้ายิ่งทำ ยิ่งฉลาด ไม่พลาดยิ่ง 

ได้ตรงดิ่ง สิ่งอุกฤษฏ์ คือจิตเจริญ

การงานนี้ ดูให้ดี มันน่ารัก 

เป็นการชัก ธรรมะมา น่าสรรเสริญ 

คือมีสติ ฉันทะ ทมะเกิน 

ครั้นหยุดเพลิน จิตก็วาง ทางนิพพาน .  (พุทธทาสภิกขุ) 

และไม่ว่าคุณจะต้องทำงานด้วยเหตุผลใดเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าต้องทำการสิ่งนั้นให้สำเร็จ ก็ต้องอย่าลืมเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการสิ่งนั้นที่เรียกว่า “อิทธิบาท4

tt ads