tt ads

ผวากันทั่วโลกเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจน่ากลัวกว่าสายพันธุ์เดลต้า 

 

ด้วยขณะนี้ทั่วโลกได้มีการผวา เมื่อพบว่ามีการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่แล้วทั่วโลก ใน 13 ประเทศ และมีการยืนยันแล้วถึง 115 คนด้วยกัน 

 

อิสราเอล เตรียมปิดประเทศชาติแรกของโลก หลังจากพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน แล้ว 2 ราย หลังเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ และได้มีการระบาดโผล่หลายประเทศแล้ว โดยจะเริ่มทำการปิดประเทศเที่ยงคืนของวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งเชื่อมต่อวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ในขณะที่อีกหลายประเทศก็เริ่มมีการห้ามผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงในแอฟริกาใต้เข้าประเทศแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองแม้จะไม่ได้ปิดประเทศ แต่ก็ได้มีมาตรการห้ามกลุ่มประเทศเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ชนิด B.1.1.529 หรือที่เรียกว่า โอไมครอน ซึ่งทางกรมฯเองได้มีการติดตามเฝ้าระวัง และมีกำหนดการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยประเทศที่พบและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.529 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศ เซาท์แอฟริกา บอตสวานา เอสวาตินี มาลาวี นามิเบีย เลโซโท ซิมบับเว และ โมซัมบิก 

 

ซึ่งผู้ที่เดินทางมาจากทั้ง 8 ประเทศนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมไปถึงไม่อนุญาตการลงทะเบียนเพื่อเข้สู่ประเทศไทยในระบบต่างๆแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นต้นไป  ส่วนผู้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้นั้น ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง จะต้องมีการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรอง 3 ครั้ง ในช่วงวันที่ 1 วันที่ 5 และวันที่ 13 ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย

ไวรัสโอไมครอนถูกพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตามด้วยประเทศบอตสวานา และอีกหลายประเทศในแอฟริกาใต้ แต่ขณะนี้ก็ได้มีการแพร่ระบาดไปนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว ได้แก่ ประเทศ อังกฤษ เบลเยี่ยม อิตาลี เยอรมนี อิสราเอล และ ฮ่องกง รวมถึงอาจมีผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐเช็ก และ เนเธอร์แลนด์ โดยส่วนใหญ่จะมาจากผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ และประเทศกลุ่มเสี่ยง แล้วมีการติดเชื้อระหว่างการกักตัว ก่อนจะลุกลามขยายเป็นวงกว้างขึ้น

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการตั้งชื่อสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์ B.1.1.529 ว่า “โอไมครอน”เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 โดยมาจากการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก พร้อมให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ด้วยจากการแพร่กระจายตัวได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆที่ผ่านมา 

ได้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายเชื้อไวร้สโควิดกลายพันธุ์ โอไมครอน ที่เป็นภาพแรกของโลก จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลเด็กแบมบิโนจีซู ในกรุงโรม จากอิตาลี (27พ.ย.64) ภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามโปรตีน มากถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า ถึง 3.5 เท่า ในขณะที่สายพันธุ์เดลต้ากลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ โอไมครอน อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุดหรือกลุ่มที่น่ากังวล (VOC : Variant of Concern) ณ ขณะนี้

 

ที่ผ่านมาได้มีการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 มาตลอด โดยจะมีไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (VOI : Variant of Interest) มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แลมป์ด้า และ สายพันธุ์มิว ส่วนไวรัสที่ควรติดตาม (VUM : Variant of Under Monitoring) จะมีทั้งหมด 7 ตัว แต่หากจัดเรียงความรุนแรงไวรัสที่น่ากังวล (VOC) ประกอบด้วย 

  • สายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) 
  • สายพันธุ์เบลต้า (สายพันธุ์แอฟริก)
  • สายพันธุ์แกมมา (สายพันธุ์บราซิล) 
  • สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) 
  • สายพันธุ์โอไมครอน (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) 

โดยการจัดกลุ่มไวรัสดังกล่าวจะใช้องค์ประกอบดังนี้ 

  • การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม ที่ทำให้มีการแพร่ระบาดกว้างขวางมากขั้น ความรุนแรงของโรค และความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันหรือวัคซีน
  • การแพร่ระบาดในชุมชน และคลัสเตอร์ในหลายประเทศ 

 

จากการกลายพันธุ์ทั้งหมดที่ผ่านมา พบว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมมากที่สุด โดยมีมากกว่า 50 ตำแหน่ง และมีการเปลี่ยนแปลงตรงส่วนหนามที่ใช้ก่อโรคในมนุษย์ มากถึง 32 ตำแหน่งด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งของหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ส่งผลให้เชื้อโอไมครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลและควรติดตามในสายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังไม่เคยมีการกลายพันธุ์ที่น่ากลัวแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะกลายพันธุ์โปรตีนส่วนหนาม

ด้วยความสามารถของโอไมครอนที่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า รวมไปถึงเมื่อติดเชื้อแล้วก็ไม่แสดงอาการ ทำให้มีการแพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

จึงต้องมีการเฝ้าระวังและจับตามองอย่างใกล้ชิด ความรุนแรงอาการของโรค และอัตราการเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้จะมีมากน้อยเพียงใด ประเด็นที่สำคัญคือ จะมีการดื้อหรือต้านวัคซีนหรือไม่ 

 

ดูได้จาก ออสเตรเลียที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้แล้ว 2 ราย ซึ่งเดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งทั้ง 2 คน ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วทั้ง 2 เข็ม แต่การติดเชื้อรอบนี้เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ รวมไปถึง ผู้โดยสารจากแอฟริกาใต้ จำนวน 61 คน จาก 2 เที่ยวบิน ที่เดินทางสู่เนเธอร์แลนด์ มีเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ที่อยู่ระหว่างการกักตัวใกล้อากาศยานสคิปโฮล อัมสเตอร์ดัม ทั้งที่มีการเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบ และได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง ทำให้เป็นที่น่ากังวลว่าจะมีเชื้อสายพันธ์ุใหม่นี้ด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจจะขยายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ซึ่งจะเป็นพาหะของเชื้อได้อย่างดี 

อาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิง แแองเจลิเก้ โคเอตซี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ ผู้ที่ออกมาเตือนเรื่องเชื้อไวรัสโอไมครอนเป็นคนแรก ได้กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากผู้ติดเชื้อที่คลินิกในกรุงพริทอเรีย พบผู้ที่มีอาการผิดแปลกไปจากผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ ในผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 24 ราย โดยส่วนหนึ่งจะเป็นหนุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และมีสุขภาพแข็งแรงดี จะมีลักษณะอาการที่ไม่ปกติแต่ไม่รุนแรง ในกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ไม่มีการสูญเสียการรับรสและการได้กลิ่น และอีกเคสที่น่าสนใจคือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่มีอาการตัวร้อน อัตราการเต้นหัวใจสูง และอาจจะต้องทำการแอดมิต แต่หลังผ่านไป 2 วัน ก็มีอาการดีขึ้น ซึ่งลักษณะอาการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นอาการเบื้องต้นที่พบได้ในขณะนี้ ยังต้องทำการศึกษาความรุนแรงของอาการต่อไป เพราะในขณะเดียวกันก็พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่อิตาลี เป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ก็ยังได้รับการติดเชื้อเช่นกัน 

ระวังการใช้ชุดตรวจบางยี่ห้ออาจให้ผลตรวจเป็นลบปลอม 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ดาวน์โหลดรหันพันธุกรรมทั้งจีโนมของ โอไมครอน ทั้ง 115 ตัวอย่าง ทดสอบด้วยวิธีชีวสารสนเทศกับตัวตรวจ ของชุดตรวจ PCR ที่ทาง WHO ให้การรับรอง ปรากฏว่าการวิเคราะห์ผลบนคอมพิวเตอร์ทั้ง 115 ตัวอย่าง อาจมีปัญหากับชุดตตรวจ PCR บางยี่ห้อ ทำให้อาจตรวจจับจีโนมสายพันธุ์โอไมครอนได้ไม่ดีหรือไม่ได้เลย ทำให้ผลบวกที่อ่อนลง หรือได้ผลลบปลอมได้  

5 ยักษ์ใหญ่วัคซีนเร่งพัฒนาวัคซีนต้านโอไมครอน  

 

บริษัท Moderna ผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์น่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเพิ่มปริมาณวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิจาก 50 ไมโครกรัม เป็น 100 ไมโครกรัม โดยศึกษาเข็มกระตุ้นเข็ม 2 เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ และจะเร่งพัฒนาเข็มที่ช่วยกระตุ้นภูมิเพื่อป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ ในขณะที่ Johnson & Johnson ของสหรัฐฯเช่นเดียวกัน ได้เริ่มการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสโอไมครอนแล้ว 

 

ในส่วน BioNTech ของเยอรมนี และ บริษัท Pfizer ของสหรัฐอเมริกา ได้คาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโอไมครอนได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อทำการวิเคราะห์ว่าควรมีการปรับปรุงวัคซีนที่ใช้อยู่ปัจจุบันหรือไม่ หากต้องปรับปรุง ก็จะสามารถดำเนินการเพื่อต้านสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะได้ภายในเวลาประมาณ 100 วัน 

 

ในขณะที่วัคซีนของโนวาแวกซ์ ระบุว่าได้มีการพัฒนาหนามโปรตีนที่มีพื้นฐาน เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ โอไมครอน โดยเฉพาะแล้ว 

 

ซึ่งจะมีการพัฒนาวัคซีนไปในรูปแบบไหน และความรุนแรงของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอเมครอนจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ต้องเฝ้าจับตาระวังอย่างใกล้ชิด และจะต้องไม่อยู่ในความประมาท แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม ยังคงต้องใช้มาตรการเดิม ใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือต้องพบเจอผู้คน เว้นระยะห่าง ล้างมือ พกเจลแอลกอฮอล์ไว้ทำความสะอาดบ่อยๆ ไม่ว่าอย่างไร การไม่ประมาท และตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังคงใช้ได้เสมอมา 

tt ads