tt ads

ผลจากการประชุมหารือของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คกก.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเห็นชอบปรับระดับ “โรคโควิด-19” จาก “โรคติดต่อร้ายแรง” ให้เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” และมีผลบังคับในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ แล้วรู้หรือไม่ว่า ระหว่าง 2 ระดับนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจทั้งในแง่ของกฏหมายและการป้องกัน เพื่อจะได้เตรียมรับมือและปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

ความหมายของระดับโรค

  • โรคติดต่ออันตราย คือ โรคติดต่อที่มีผลจากอาการโรครุนแรง เป็นอันตรายในระดับสูง มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น โรคไข้ทรพิษ โรคไวรัสอีโบลา ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก โรคซาร์ส โรคเมอร์ส กาฬโรค เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่ดื้อยา รักษายาก มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง  
  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคที่เข้าข่ายอันตราย มีการติดตาม ทำการตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูล เพื่อประเมินผล ตลอดไปถึงการรายงาน และติดตามผลการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมโรค 


ระยะเวลาการรายงานโรค 

  • โรคติดต่ออันตราย : จะต้องมีการรายงานให้กรมควบคุมโรคทราบภายใน 3 ชั่วโมง โดยผู้สัมผัสหรือใกล้ชิด (closed contact) ผู้ติดเชื้อ จะต้องโดนกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการตามระยะการฟักตัวของเชื้อโรค , มีการประกาศ “เขตติดโรค” นอกราชอาณาจักร โดย รมต.กระทรวงสาธารณสุข และสำหรับใครที่ติดเชื้อหรือเข้าข่ายมีความเสี่ยงในการติดโรค ทั้งผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้ใกล้ชิด แล้วไม่รายงานโรค และแม้แต่การขัดขวางในการปฏิบัติงาน ถือว่ามีความผิดทั้งจำและปรับ (โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท) 
  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง : จะต้องรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบ ด้วยการรายงานทุกสัปดาห์ อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยบังคับทุกสถานพยาบาลและห้อง lap ทั้งภาครัฐฯและเอกชน จะต้องทำการรายงานสถานการณ์ และผู้ป่วยโรคหรือเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หากบกพร่องต่อการรายงานดังกล่าว จะมีโทษปรับ 20,000 บาท 

ขั้นตอนการแจ้ง

  • โรคติดต่ออันตราย : เจ้าบ้าน, เจ้าของสถานที่ , ผู้ควบคุมหรือผู้ดูแลสถานประกอบการ ,เจ้าหน้าที่ ,แพทย์หรือบุคลากรผู้ทำการรักษาพยาบาล , ผู้ทำการวินิจฉัยโรค และผู้ทำการชันสูตร หากพบผู้ป่วยหรือต้องสงสัยติดเชื้อ จะต้องทำการแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดกรมควบคุมโรคในส่วนกลาง หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่นั้น โดยจะต้องแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่พบผู้ป่วยหรือผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19  และสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่เมื่อได้รับการรับแจ้งพบผู้ติดเชื้อจากประชาชน จะต้องทำการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมควบคุมโรคในส่วนกลาง ภายใน 24 ชั่วโมง 
  • โรคติดต่อที่เฝ้าระวัง : บุคลากรในสถานพยาบาล ผู้ทำการตรวจโรค และผู้ทำการชันสูตร หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายได้รับเชื้อโควิด จะต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสังกัด สสจ. หรือแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดสำนักอนามัย กทม. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 

การเฝ้าระวังและการป้องกัน หลังจากโควิด-19 ลดระดับเป็น โรคติดต่อที่เฝ้าระวัง 

การรายงานสถานการณ์โรคจะลดลงเหลือเพียงแค่รายสัปดาห์ เช่นเดียวกับวิธีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีการประมวลผลของตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่ของช่วงเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ค่าคำนวณในการประเมินความผิดปกติของแต่ละสถานการณ์ ก่อนจะทำการแจ้งเตือนประชาชนและประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติม

การป้องกันโรคหลังหลังจากลดระดับของโรคโควิด-19 

เน้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยวัคซีนจะถูกจัดให้เป็นวัคซีนประจำปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ โดยอาจพิจารณาจัดให้ฟรีกับกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรง หรือกลุ่มที่ได้รับพิจารณาพิเศษ

ข้อควรระวังและการปฏิบัติตนของประชาชน หลังจากโควิด-19 เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 

วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ต้องกักตัว และสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ต้องยื่นเอกสารวัคซีนและผลตรวจ ATK  ดังนั้นเพื่อความไม่ให้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ประชาชนควรจะต้องปฏิบัติตัวเหมือนเช่นที่ผ่านมาอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะมีการลดหย่อนการเคร่งครัดแล้วก็ตาม เพราะเชื้อของโรคยังไม่หายไปอย่างถาวร และมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดอย่างรุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราทุกคนควรนำสถานการณ์ที่ผ่านมานั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อจะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตาม

tt ads