tt ads

 

อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆไปจนถึงความเจ็บป่วยที่อาจถึงแก่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น นิ้วซ้น เท้าพลิก ก้างปลาติดคอ น้ำร้อนลวก รถชน จมน้ำ ฯลฯ หากได้รับวิธีการปฐมพยาบาลให้ถูกต้องกับอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ก่อนที่จะถูกนำตัวไปโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป ก็จะช่วยลดความสูญเสีย และกลับฟื้นสภาพเดิมได้เร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสให้รอดปลอดภัยสูงขึ้น

ทำไมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงสำคัญ

เพราะการได้รับการปฐมพยาบาล First aid ถูกวิธี นอกจากจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ยังช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นจากความเจ็บปวด และยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 

 

กระดูกหักเกิดขึ้นได้กับทุกวัย เพราะอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกหักเกิดขึ้นได้ง่ายอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่หกล้ม ตกบันได ขี่จักรยานล้ม นั่งแล้วตกจากเก้าอี้ หรือแม้แต่การเล่นกีฬาก็ตาม ดังนั้นเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ หรือสงสัยว่ากระดูกหัก ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังต่อไปนี้ 

 

อันดับแรกให้สังเกตอาการว่าข้อเคลื่อนหรือกระดูกหัก หรือทั้งข้อเคลื่อนและกระดูกหัก

 

ข้อเคลื่อน (Dislocation) คือ ข้อต่างๆมีการหลุดจากตำแหน่งเดิม เยื่อหุ้มข้อจึงมีการฉีกขาด หรืออาจกล้ามเนื้อยึด ซึ่งอาจมีอันตรายต่อเส้นประสาทและหลอดเลือดใกล้เคียง

 

กระดูกหัก (Fracture) คือ กระดูกมีการแตกหรือหัก อาจมีการเคลื่อนออกจากกัน บางกรณีอาจหักหรือแตกหลายชิ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุ กระดูกหักอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

อาการกระดูกหักและข้อเคลื่อน

  • เจ็บปวดและมีอาการบวมบริเวณที่มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน
  • สีผิวหนังบริเวณที่บาดเจ็บเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณบาดเจ็บ หรือเจ็บปวดมากเมื่อเคลื่อนไหว
  • อวัยวะที่บาดเจ็บจะมีการหดจนสั้นลงกว่าปกติ เช่น แขนที่กระดูกหักจะสั้นกว่าอีกข้าง
  • เมื่อคลำจะพบส่วนของกระดูกที่เคลื่อนหรือหักออกมา

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก

กระดูกหัก คือ การที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากจนทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงดังกล่าวได้ ก่อให้เกิดอาการปวด เสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน อีกทั้งการได้รับบาดเจ็บบริเวณที่ได้รับแรงกระแทกและมีเลือดออก ซึ่งกระดูกหักจะมีลักษณะ 2 แบบ คือ 

  • กระดูกหักแบบปิด (Fracture) กระดูกหักอยู่ด้านใน ไม่ทะลุนอกผิวหนัง หรือผิวหนังไม่มีแผลเปิดให้เห็นถึงกระดูก สังเกตได้จากรยางค์ส่วนที่บาดเจ็บจะสั้นกว่าอีกด้าน และมีอาการบวมบริเวณที่กระดูกหัก  
  • กระดูกหักแบบเปิด (Open Fracture) มีบาดแผลผิวชั้นนอก และอาจสามารถมองเห็นชิ้นกระดูกที่หักโผล่ออกมาได้ หรือก้อนไขมัน(fat globule) ไหลออกมาจากบริเวณกระดูกที่หัก ซึ่งจะต้องรีบทำการปฐมพยาบาลโดยเร่งด่วน และรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ มีอาการช็อกเนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก และแผลติดเชื้อ 

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกระดูกหักแบบปิด (Fracture)

ห้ามดึงข้อหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง โทรแจ้ง1669 โดยระหว่างรอรถมารับ ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากสงสัยว่าสะโพก หลัง หรือมีอวัยวะส่วนใดหัก แต่ให้ทำการพยุงอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่กับที่ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมาก โดยการดามชั่วคราว หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้า ให้ใช้กรรไกรตัดตามแนวตะเข็บผ้า ใช้วัสดุที่พอจะหาได้ดามเฝือกชั่วคราว โดยจัดให้อยู่ในท่าที่สบาย และประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อช่วยลดอาการปวด และงดให้ผู้บาดเจ็บดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร เผื่อว่าต้องทำการเข้ารับการผ่าตัด หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัย

วิธีเข้าเฝือกชั่วคราว หรือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแขนหัก-ขาหัก

การเข้าเฝือกชั่วคราวนี้ จะต้องเข้าเฝือกในท่าที่เป็นอยู่ อย่าบิดหรือจัดท่าเพื่อให้กระดูกเข้าที่เดิม โดยการเข้าเฝือกชั่วคราวทำได้ดังนี้ 

 

1.ใช้วัสดุที่มีความแข็ง เช่น ไม้ กระดาษแข็งที่พอจะดามได้โดยไม่มีหักงอระหว่างทาง และอุปกรณ์ที่นำมาดามเข้าเฝือกต้องมีความยาวที่ครอบคลุมข้อที่เหนือและใต้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดูกต้นแขนหัก ก็ใช้ไม้ดามที่ความยาวตั้งแต่ข้อมือจนถึงข้อศอก

 

2.วางวัสดุที่ดามประกบทั้งสองด้าน หาวัสดุอื่นมาวางรองก่อนประกบ โดยใช้ผ้าหรือสำลีวางรองตลอดแนวของวัสดุที่ดาม เพื่อไม่ให้ของแข็งที่ใช้ดามกดทับโดนผิวหนังโดยตรง 

 

3.ใช้เชือกหรือผ้าพันที่ดามประกบไว้ โดยไม่ให้แน่นหรือหลวมจนเกินไป เพราะหากรัดแน่นเกินไป จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก คอยสังเกตบริเวณที่ดามตลอด หากมีอาการบวมอาจเป็นเพราะรัดแน่นเกินไป ให้รีบคลายเชือกให้แน่นน้อยลง  

 

การปฐมพยาบาลกระดูกหักแผลเปิด (Open Fracture)

เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือพบเจอคนบาดเจ็บ กระดูกหักแบบแผลเปิด หรือเกิดบาดแผลแล้วเห็นกระดูกหักทิ่มแทงออกมานอกผิวจนเห็นได้ชัด จะต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาลทันที และระหว่างที่รอรถฉุกเฉินมารับตัว ให้รีบทำการปฐมพยาบาล กรณีเลือดออกมากจะต้องมีวิธีการห้ามเลือด เพื่อไม่ให้ผู้บาดเจ็บเกิดอาการช็อกเพื่อลดความเสี่ยงแผลติดเชื้อให้มากที่สุด โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

 

สังเกตอาการช็อกของผู้บาดเจ็บ

1.เลือดออกปริมาณมาก 

2.ผู้บาดเจ็บมีอาการหน้าซีด ปากซีด ตัวเย็น มือเย็น และเหงื่อออกมาก 

 

หากผู้บาดเจ็บมีอาการช็อกเพราะเสียเลือดมาก ให้รีบทำการห้ามเลือดก่อน

วิธีห้ามเลือดแผลเปิด 

1.ใช้ผ้าสะอาดกดปิดบริเวณบาดแผลเพื่อให้เลือดหยุดไหล 10-15 นาที 

2.ทำการล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าที่สะอาด 

3.ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือหรือน้ำสะอาดแล้วห่อกระดูกที่ทะลุออกมา  

วิธีการลดอาการปวด

1.ประคบเย็นใกล้บริเวณบาดแผล เพื่อให้เกิดอาการชา บรรเทาอาการเจ็บได้ชั่วคราว 

2.ยกอวัยวะที่มีการบาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าลำตัว เพื่อให้เลือดไหลเวียน และไม่ทำให้เกิดอาการบวม

 

*อย่าพยายามดึงกระดูกหรือจัดกระดูกเข้าที่เองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย อาจทวีความรุนแรงจนผู้บาดเจ็บต้องสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นได้*

 

**การขันชะเนาะไม่ถูกต้อง นอกจากไม่สามารถห้ามเลือดได้ ยังอาจทำให้บาดแผลเกิดการบาดเจ็บ และทวีความรุนแรงมากขึ้น**

 

การปฐมพยาบาลกระดูกเชิงกรานหัก

กระดูกเชิงกรานแตกหัก เพราะอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากการตกจากที่สูง อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือได้รับแรงกระแทกโดยตรงบริเวณสะโพกเชิงกราน หรือแม้แต่การบาดเจ็บออร์โธปิดิกส์ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ากระดูกเชิงกรานหักและมีเลือดตกในอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง หรือกระดูกท่อนยาวหักและทะลุทำให้มีเลือดออกภายใน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น มีการบาดเจ็บที่ช่องท้อง ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือ อวัยวะสืบพันธุ์ 

 

อาการแสดงของกระดูกเชิงกรานหัก

มีอาการเคล็ดและฟกช้ำบริเวณเชิงกรานหัก ยกขาข้างที่อุ้งเชิงกรานหักไม่ได้ขณะนอนหงาย ขาและเท้าข้างที่เจ็บจะแบะออกข้างๆ และอาจสั้นกว่าอีกข้าง เมื่อปัสสาวะอาจมีเลือดปน 

 

การดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยกระดูกเชิงกรานหัก ก่อนนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล 

1.ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่นิ่งที่สุด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม และลดการเคลื่อนของชิ้นส่วนกระดูกที่แตกหัก 

2.กรณีที่ผู้ป่วยขยับตัวได้ ก็ให้ขยับตัวช้าๆ ในท่าทางที่ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด 

3.ไม่ควรนวดหรือดัดร่างกาย หากไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ 

4.หากมีบาดแผลเปิด ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณปากแผล 

5.ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวดกระดูก บวมหรือฟกช้ำ 

6.วางผ้าระหว่างขาทั้งสองข้าง ตั้งแต่หัวเข่าจนถึงปลายเท้า จากนั้นใช้ผ้าพันไขว้สลับกันเป็นเลข 8 บริเวณเท้า และพันเข่าทั้ง 2 ข้างให้ชิดกัน เพื่อลดการเคลื่อนไหวบริเวณเชิงกรานให้มากที่สุด  แม้ในขณะทำการเคลื่อนย้าย 

และอย่าลืมทำการติดต่อโทร 1669 แจ้งเหตุทันทีเมื่อเจอเหตุดังกล่าว เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาในการรอรถพยาบาลนานเกินไป และสามารถใช้เวลาระหว่างรอนั้น ทำการปฐมพยาบาลบาดแผลให้ถูกวิธี เป็นการประคองการบาดเจ็บ และช่วยชะลอความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล เสมือนเป็นการรักษาเบื้องต้น นับเป็นวีธีที่ 1 จนเมื่อไปถึงมือของหมอ จะได้ทำการรับช่วงต่อ เป็นการรักษาขั้นตอนที่ 2 และ 3 , 4 … ตามลำดับขั้นตอนต่อไป 

 

tt ads