tt ads

เหตุไฟไหม้โรงงาน บ.หมิงตี้เคมิคอล จำกัด ที่ผลิตเม็ดโฟม ในซอยกิ่งแก้ว21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ช่วงค่ำวันที่ 5 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนในรัศมีใกล้โรงงานต้องหนีตายและอพยพกันวุ่นวาย เนื่องจากเป็นโรงงานสารเคมี ทำให้เกิดสารพิษรั่วไหลจากการเกิดระเบิดและเผาไหม้ เป็นกลุ่มควันใหญ่ลอยล่องขึ้นสู่อากาศ ลอยเป็นกลุ่มใหญ่ปกคลุมกระจายทั่วบริเวณ เจ้าหน้าที่ต้องทำการระดมและแจ้งให้ผู้คนในรอบบริเวณใกล้เคียงอพยพอย่างเร่งด่วน เพราะเกรงจะเกิดเหตุระเบิดรอบสองและอันตรายจากสารสไตรีนโมโนเมอร์ 

หากติดตามข่าวต่อเนื่องจะทราบว่า กว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมเพลิงได้จนเพลิงสงบลงนั้นใช้เวลาค่อนข้างยาวนานเลยทีเดียว เนื่องจากบริเวณที่เกิดไฟไหม้เป็นโรงงานเกี่ยวกับสารเคมีที่ไวไฟและง่ายต่อการระเหย อีกทั้งยังเกิดระเบิดซ้ำจนเป็นเหตุให้ต้องมีการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินหลายครัวเรือน และสารสไตรีนมอนอเมอร์คืออะไร อันตรายแค่ไหน ทำไมต้องทำการอพยพผู้คนอย่างเร่งด่วน ….

 

สารสไตรีนโมโนเมอร์คืออะไร 

สารสไตรีนโมโนเมอร์ คือ ของเหลวใส แต่มีความข้นเหนียว มีสูตรเคมี C8H8 น้ำหนักโมเลกุล104.16  ไม่ละลายน้ำแต่ละลายในเมทธานอล อีเธอร์ อะซีโตน และเอทธานอล สามารถระเหยกลายเป็นไอได้อย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง หากได้รับอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ถ้าอุณหภูมิสูงถึง 31องศาเซลเซียสขึ้นไปจะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์จำนวนมาก ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ 

 

สารนี้จะใช้ในงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกหรือยางสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบ การทำเรซิน ฉนวนโฟม การทำยาง การทำสารละลาย 

พิษของสารสไตรีนอันตรายอย่างไร 

เนื่องจากสารสไตรีนเป็นสารระเหย หากทำการสูดดมสารนี้เข้าไปจะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและลำคอ เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ระคายเคืองและอักเสบต่อผิวหนัง ทำให้ผิวแตกแห้ง การหายใจเข้าไปแม้จะในความเข้มข้นต่ำแต่เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่ออาการทางสายตา การได้ยินและการตอบสนองจะเสื่อมลง ถ้าได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้ชักและเสียชีวิตได้ และองค์การอนามัยโลกจัดว่าสารสไตรีนอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

 

สารสไตรีนเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดมไอ การสัมผัสทางผิวหนังและถูกดูดซึม สไตรีนจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ในปริมาณที่ได้รับระยะเวลานานหรือปริมาณเกินขีดค่าจำกัด สามารถก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้รู้สึกอิดโรย เบื่ออาหาร ง่วงซึม อ่อนเพลียแบบไม่รู้สาเหตุ ระบบประสาทส่วนกลางเสียสมดุล ผิวหนังมีผื่นแดง คัน อักเสบ ส่วนผลระยะยาวทำให้มีอันตรายต่อระบบเลือด ตับ ไต อาจเป็นมะเร็งปอดและมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

 

การดับเพลิง 

ในการดับเพลิงกรณีเกิดเหตุไฟไหม้บริเวณที่มีสารสไตรีน ควรใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์หรือเคมีแห้งปกคลุม ห้ามฉีดน้ำเป็นลำไปยังถังที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ให้ฉีดเป็นละอองฝอยเพื่อควบคุมควันแทน 

ค่าขีดจำกัดการรับสารเคมีในระยะเวลา 1 ชั่วโมง คือ

  • ระดับที่1 ไม่เกิน 20 พีพีเอ็ม หากเกินนี้จะมีผลต่อสุขภาพเล็กน้อย 
  • ระดับที่ 2 ไม่เกิน 130 พีพีเอ็ม หากเกินนี้จะส่งผลสุขภาพอย่างมาก อาจทำให้หมดสติไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีอพยพออกจากบริเวณนั้นทันที
  • ระดับที่ 3 ไม่เกิน 1,100 พีพีเอ็ม หากสูงกว่านี้ จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

อุปกรณ์สำหรับป้องกัน

สำหรับผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีสารระเหยสไตรีน หรือเจ้าหน้าที่ควรใช้หน้ากากชนิดป้องกันไอระเหย หน้ากากดูดซับผงถ่าน หรือชุด PPE เพื่อป้องกันไอระเหยของสารในการสูดดม หากไม่มีชุดพีพีอี ก็ควรใส่ชุดที่ปิดร่างกายมิดชิด เพื่อป้องกันการดูดซึมสารสไตรีนจากทางการสัมผัสผิวหนัง

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าสารสไตรีนมีพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง อีกทั้งสารนี้ยังสามารถปะปนได้ในน้ำ หากเกิดฝนตกในบริเวณที่มีสารสไตรีนรั่วไหล พยายามอย่าให้โดนน้ำฝนเพราะอาจเกิดพิษและการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะอย่าให้เข้าตาเด็ดขาด อย่าเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และควรอพยพไปให้มากถึง 10 กิโลเมตรจะดีที่สุดและไม่ควรกลับเข้าไป แม้ต้องการเข้าไปตรวจสอบความเสียของบ้านก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาต เพราะสารพิษอาจยังตกค้างอยู่

เป็นอีกเหตุการณ์ที่ให้บทเรียนและอุทาหรณ์กับคนไทยในหลายด้าน ที่คนไทยต้องจดจำและนำมาตระหนัก หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเลือกที่อยู่อาศัย หากเป็นไปได้พยายามอย่าเลือกอยู่ในบริเวณหรือใกล้โรงงานสารเคมี แต่หากมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเลือกได้ ควรระมัดระวังให้เป็นพิเศษ คอยสังเกตดิน-น้ำในบริเวณรอบๆ และอากาศ เพราะสารเคมีหลายชนิดละลายปนเปื้อนในน้ำได้ หรือแม้แต่ระเหยลอยอยู่ในอากาศ อาจมีการสูดดมเข้าไปเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างเช่น สารสไตรีนโมโนเมอร์ 

tt ads