tt ads

สถานการณ์โควิดระบาดหนักรอบ3 แบบนี้ ข่าวที่ได้รับรู้ในแต่ละวัน ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ คนที่ติด Covid-19 แต่ไม่มีอาการก็มีมากขึ้น ไม่รู้ว่าตัวเราเองติดเชื้อหรือยัง แต่จะให้ไปที่จุดตรวจโควิดแต่ละที่ก็คนเยอะเหลือเกิน กลัวจะไปตรวจแล้วเสี่ยงติดโควิดกลับมาแทน แต่ถ้าไม่ตรวจก็ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้วหรือยัง จะตรวจเองก็ตรวจไม่ได้อีก

ตั้งแต่โควิดระบาดมารอบแรกๆ สิ่งที่เราเรียกร้องกันมาตลอดอีกหนึ่งสิ่ง นอกจากวัคซีนดีๆแล้ว ก็คือ การได้ชุดตรวจหาเชื้อโควิดกันเองที่บ้าน อย่างที่หลายๆประเทศเขาแจกจ่ายประชาชนในประเทศ แม้จะรอกันมาจนครบวาระได้ 1 ปีกว่าๆ จนในที่สุด ทางการไทยก็ปลดล็อคให้เราได้ใช้ชุดตรวจเชื้อCovid-19 ได้แล้ว นั่นคือชุดตรวจ Rapid Antigen Test แล้วเจ้าชุดตรวจที่ว่านี้คืออะไร ต้องใช้แบบไหน จะได้ผลอย่างไร หากผลออกมาว่าติดเชื้อ ต้องทำยังไงต่อไป

 

Rapid Antigen Test คือ ชุดตรวจหาเชื้อโควิดที่ให้ผลตรวจได้อย่างรวดเร็ว โดย Rapid Test จะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ … 

  1. ตรวจหาเชื้อ (Antigen) โดยเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือคอ ซึ่งต้องรับเชื้อมาแล้ว 5-14 วัน จึงจะได้ผลแม่นยำ ตอนนี้มียี่ห้อชุดตรวจ  Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 24 ยี่ห้อ โดยราคาRapid Antigen Test คาดว่าน่าจะประมาณ 300-400 บาท
  2. ตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) โดยการเก็บตัวอย่างจากการเจาะเลือด ซึ่งจะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในวันที่10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วยแล้ว

 

ขณะนี้ชุดตรวจที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้ใช้ตรวจเองตามบ้านได้คือ Rapid Antigen Test ชุดตรวจหา Antigen ส่วนที่เป็นชุดตรวจหา Antibody หรือภูมิคุ้มกัน จะเปิดให้ทดสอบและใช้ได้ตามโรงพยาบาล

ก่อนใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ต้องทำอย่างไรบ้าง 

บริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ได้มีคำแนะนำข้อควรรู้ก่อนใช้ตรวจหาเชื้อด้วย Rapid Antigen Test ดังต่อไปนี้ 

 

  • งดอาหารและน้ำก่อนทำการตรวจอย่างน้อย 30 นาที 
  • หากมีเลือดกำเดาไหลไปก่อนนี้ใน 24 ชม. ให้รอก่อน หรืออาจตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดา 
  • หากมีการเจาะจมูก ให้ทำการตรวจข้างที่ไม่ได้เจาะ แต่ถ้าเจาะทั้ง 2 ข้าง ให้ถอดห่วงจมูกข้างที่ต้องการจะตรวจออกก่อน 
  • ชุดตรวจใช้ได้แค่ครั้งเดียวต่อหนึ่งคน 
  • กรณีที่ทำการตรวจทางคอไม่ได้ เช่น อาจมีการเจาะคอ ให้ตรวจทางจมูกแทน 

ชุดตรวจ Rapid Antigen Test มีอะไรบ้าง 

อ้างอิงจากการแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 ได้ระบุไว้ว่า ในชุดตรวจ Rapid Antigen Test จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ 

  • ตลับทดสอบ
  • ก้านสำลีสำหรับ swab
  • หลอดใส่น้ำยาสกัด 
  • ฝาหลอดหยด
  • เอกสารกำกับชุดตรวจ

 

วิธีใช้ Rapid Antigen Test 

  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจให้สะอาด ควรใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อด้วย 
  • ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหรือใช้เจลล้างมือ เพื่อรักษาความสะอาดของมือที่จะหยิบจับอะไร 
  • วิธีเก็บตัวอย่าง ให้ทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด โดยแต่ละชุดจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป  เช่น การเก็บตัวอย่างจากการแหย่จมูก แหย่จมูกถึงคอหอย หรือเก็บตัวอย่างจากการเข้าทางปากถึงคอหอย เป็นต้น 
  • เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่าง ให้เตรียมอุปกรณ์ต่อไปตามคู่มือการใช้งาน
  • นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจหาเชื้อ โดยหมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือประมาณ15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด โดยห้ามไม่ให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารที่เก็บเชื้อ
  • นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้แล้วรอผลประมาณ 15-30 นาที 

วิธีอ่านค่าผลตรวจ

หลังจากรอประมาณ 30 นาที ให้อ่านค่าผลตรวจ โดยอักษร C หมายถึง แถบควบคุม และตัวอักษร T หมายถึง ทดสอบ มีวิธีการอ่านผลตรวจดังนี้

 

  • หากมีเพียงขีดเดียวตรงตัวอักษร C หมายถึงผลตรวจเป็นลบ คือไม่ติดเชื้อ
  • หากมี 2 ขีดตรงตัวอักษร C และ T หมายถึงผลตรวจเป็นบวก คือติดเชื้อ
  • หากไม่มีขีดที่ตัว C แต่มีตรงที่แค่ตัว T หรือไม่มีขีดเลย นั่นเป็นผลตรวจที่ใช้ไม่ได้ ต้องทำการตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องทำตามคำแนะนำในคู่มืออย่างเคร่งครัด 

 

หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรทำอย่างไร

  • ติดต่อแจ้งหน่วยใกล้บ้านทันที 
  • ให้คนที่อยู่ใกล้ชิดทำการตรวจหาเชื้อ
  • แยกตัวจากผู้อื่นเพื่อทำการกักตัว
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
  • แยกการใช้ห้องน้ำในกรณีอยู่บ้านร่วมกับคนอื่น 
  • สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ยกเว้นกรณีที่อยู่ลำพัง
  • เลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง 
  • หากมีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด ให้รีบทำการติดต่อขอรับการรักษา 
  • กรณีไม่ติดเชื้อแต่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรทดสอบอีกครั้งใน 3-5 วัน และทำการแยกกักตัวจากผู้อื่น และถ้ามีอาการคล้ายจะติดโควิด ให้ทำการทดสอบอีกครั้ง 

วิธีทิ้งชุดตรวจ Rapid Antigen Test 

เมื่อเสร็จสิ้นการใช้ชุดตรวจแล้ว ควรแยกทิ้งจากขยะทั่วไปและติดสัญลักษณ์หรือเขียนกำกับเพื่อให้รู้ว่าเป็ฯขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ หรือใส่ถุงขยะสีแดงหรือถุงสำหรับขยะติดเชื้อ เพื่อเพิ่มความระวังให้กับพนักงานเก็บขยะ และป้องกันเชื้อฟุ้งกระจายและแพร่สู่ผู้อื่น 

 

ทีนี้ก็พอได้รู้กันไปแล้วว่า Rapid Antigen Test คืออะไร และต้องใช้อย่างไร จะได้ลดความแออัดและความเสี่ยงในการไปที่จุดตรวจ สำหรับใครที่ได้ใช้ชุดตรวจนี้กันไปบ้างแล้ว ก็หวังว่าให้ผลออกมาเป็นลบกันทุกคนนะคะ แต่ถ้าพลาดติดเชื้อไปแล้ว ขอให้รักษาจิดใจไว้ก่อนพร้อมๆกับการรักษากาย เพราะความเครียดมีผลในการไปกดภูมิในร่างกายได้ อาจทำให้ทรุดได้ง่าย ดูแลทั้งใจและกายตัวเองให้อย่างเต็มที่ที่สุด เราจะต้องผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ 

 

tt ads