tt ads

อาการ “ปวดฟัน” เป็นกันได้ทุกเพศทุกวัยและเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากโรคปริทันต์ การมีเหงือกอักเสบ หรือโรคฟันผุก็ตาม ไม่ว่าจะปวดด้วยเพราะสาเหตุอะไรและมากน้อยแค่ไหน ปวดฟันกราม ฟันคุด ฟันฉีก หรือฟันซี่ไหนก็ตาม นอกจากจะปวดทรมานแล้วยังรำคาญและหงุดหงิดได้ง่าย ยิ่งถ้าปวดแบบฉับพลันขณะที่ต้องทำงานก็ยิ่งหงุดหงิดทำงานไม่ได้ไปกันใหญ่ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาหาวิธีแก้ปวดฟันด้วยสิ่งรอบตัวแบบชั่วคราวกันก่อนดีกว่าว่าจะมีวิธีไหนช่วยได้บ้าง 

1.ทำความสะอาด เป็นวิธีแรกๆที่ต้องตรวจสอบว่าในช่องปากและฟันเรานั้นมีเศษอาหารติดตามซอกหรือร่องฟันอยู่หรือไม่ แล้วทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันกับแปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม ไม่แข็งหยาบ 

2.ไหมขัดฟัน การปวดฟันบางกรณีก็เกิดจากความสะอาดไม่เพียงพอ เช่น ตามร่องฟันอาจมีเศษอาหารที่ทำความสะอาดออกไม่หมดติดอยู่และสะสม การรักษาความสะอาดนอกเหนือจากการแปรงฟันอาจต้องใช้ไหมขัดฟันช่วยในส่วนที่แปรงสีฟันเข้าซอกซอนไม่ถึง 

3.บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ใช้เกลือที่เราไว้ปรุงอาหารที่มีติดครัวนี่ล่ะค่ะ ผสมกับน้ำอุ่นแล้วอมกลั้วปากให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณที่ปวด เพราะนอกจากการอักเสบแล้ว อาการปวดฟันก็อาจเกิดได้จากการติดเชื้อ กลั้วทั่วปากแล้วก็บ้วนทิ้ง ทำได้บ่อยๆจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น 

4.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น บรั่นดี วิสกี้ วอดก้า เพราะในเหล้าที่ยิ่งแรงก็ยิ่งมีแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง มีฤทธิ์ให้รู้สึกชาเมื่อถูกสัมผัส ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันจากการติดเชื้อได้ในระดับนึงเลยทีเดียว โดยการเทเหล้าลงบนผ้าฝ้ายหรือสำลีแล้วเช็ดเบาๆบริเวณที่ปวด ทาได้บ่อยครั้งแต่ถ้าเหงือกแดงขึ้นก็หยุด หรือจิบเหล้าเล็กน้อยแล้วกลั้วข้างที่ปวดก่อนบ้วนทิ้ง

5.น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่สาวๆใช้บำรุงผม-ผิวนี่แหล่ะค่ะ นำน้ำมันมะพร้าวกลั้วปากประมาณ 20-30 วินาทีเป็นประจำ จะช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันลงได้ 

 

6.น้ำแข็งประคบ  นำผ้าห่อน้ำแข็งแล้วประคบแนบแก้มข้างที่ปวดไว้สักพัก อย่านำน้ำแข็งประคบกับฟันที่ปวดโดยตรงเพราะจะทำให้เพิ่มความปวดมากขึ้น

 

7.งดรับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด เช่น น้ำเย็นจัด น้ำแข็ง ไอศกรีม การรับประทานอาหารร้อนๆ หรือดื่มน้ำร้อน ชาร้อน กาแฟร้อน

 

8.งดรับประทานอาหารที่มีความเหนียวแข็งต้องใช้แรงฟันขบ อาหารที่มีความแข็งหรือเหนียว แต่ให้ทานอาหารอ่อนๆที่ไม่ต้องใช้แรงในการเคี้ยวมาก เช่น ข้าวต้ม  โจ๊ก เป็นต้น

 

9.ยาแก้ปวด เป็นวิธีที่ง่ายสุดและเร็วสุดหากว่าใครมียาแก้ปวดอยู่แล้ว เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน ก็สามารถทานยาแก้ปวดได้เลยเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันขั้นต้น โดยทานครั้งละ 1-2 เม็ดหรือตามคำแนะนำบนฉลาก ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรทายาติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะเป็นการสะสมและส่งผลต่อระบบอื่นภายในได้ 

 

10.ยาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่ เป็นยาที่ใช้เฉพาะที่บนฟันหรือเหงือกที่มีอาการปวด มีตัวยาสำคัญ เบนโซเคน ซึ่งเป็นยาชาที่ใช้ลดความเจ็บปวด เช่น แผลในปาก บรรเทาการปวดฟัน ปวดเหงือก โดยใช้ในปริมาณตามคำแนะนำบนฉลาก แต่ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี 

 

11.ประคบด้วยน้ำแข็ง เชื่อว่าหลายๆบ้านหรือแม้แต่บางบริษัทมีตู้เย็นที่มีช่องฟรีซสำหรับทำน้ำแข็งได้ แต่ถ้าไม่มี ก็สามารถซื้อตามร้านค้าได้ สามารถใช้น้ำแข็งได้ทุกชนิดไม่ว่าจะก้อนเล็กหรือใหญ่ เพียงใช้ผ้าห่อน้ำแข็งแล้วนำประคบแก้มฝั่งที่ปวดฟันไว้สักพัก อย่านำน้ำแข็งประคบกับฟันที่ปวดโดยตรงเพราะจะทำให้เพิ่มความปวดมากขึ้น

 

12.ประคบร้อน กรณีฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันและเป็นหนองปลายรากฟัน มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด การใช้ความร้อนประคบบริเวณที่บวมจากภายในช่องปากจะช่วยระบายหนองได้ดีขึ้น ทำให้ช่วยบรรเทาความปวดได้

 

13.ใช้ถุงชาประคบ เช่น ชาดำ ชาคาโมมายด์  นำถุงชาที่เราชงดื่มาแล้ว วางบนบริเวณที่มีอาการปวดแล้วขบไว้เบาๆค้างไว้จนกว่าความปวดทุเลาลง

 

14.กานพลู สมุนไพรที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ให้นำกานพลูทั้งดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวด หรือนำดอกไปตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าขาวพอชุ่ม จากนั้นใช้สำลีจุ่มแล้วนำไปอุดหรือวางบนฟันที่ปวด 

 

15.เมล็ดผักชี ต้มเมล็ดผักชีกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากบ่อยๆ 

 

16.ว่านหางจระเข้ นอกจากจะช่วยในเรื่องการสมานแผลแล้ว ว่านหางจระเข้ยังสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ในเรื่องของการปวดฟันก็เช่นกัน โดยการหั่นว่านหางจรเข้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเหน็บไว้บริเวณซอกฟันที่ปวด หรือนำสำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำวุ้นว่านหางจระเข้มาป้ายบริเวณที่ปวด เพื่อช่วยบรรเทา่อาการปวดชั่วคราว

 

17.น้ำมันกระเทียม ไม่เพียงแต่กระเทียมสดจะมีประโยชน์สารพัด แม้แต่น้ำมันกระเทียมก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ชั่วคราวด้วย เพียงนำสำลีชุบน้ำมันกระเทียมทาบริเวณที่ปวดฟันทิ้งไว้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่วิธีนี้จะช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น 

17 ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นการรักษาอาการปวดฟันเบื้องต้นและช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางที่ดีเมื่อทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้น รวมถึงมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการหาสาเหตุและรักษาได้ถูกต้อง เพราะอาจเป็นไปได้ว่า…

 

  1. ฟันผุหรือวัสดุอุดฟันหลุด ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยอุดฟันให้
  2. รากฟันเสียหาย ฟันเสียหายแต่ยังไม่หลุด เนื้อเยื่ออักเสบ ฟันร้าว หรือฟันติดเชื้อรุนแรง ท้นตแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีครอบฟันเพื่อทำการรักษารากฟัน หรือวิธีอื่นๆที่ถูกต้องได้ทันท่วงที เพื่อให้ยังคงเก็บฟันซี่นั้นได้ต่อไปโดยไม่ต้องทำการถอน
  3. กรณีฟันคุด ทันตแพทย์อาจต้องทำการถอนฟันซี่นั้นออก เพราะฟันคุดไม่ได้มีผลดีในการใช้งานเรื่องเคี้ยวอาหารแต่อย่างใด และจะทำให้เสี่ยงกับอาการปวดรุนแรงหรือติดเชื้อได้ถ้าไม่ถอนฟันคุดที่เป็นสาเหตุออ
  4. เหงือกร่อน เป็นสาเหตุทำให้มีอาการปวด ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีรักษาเหงือกให้อย่างถูกวิธี แต่ถ้าเป็นในกรณีที่รุนแรง ทันตแพทย์จะทำการส่งต่อให้กับศัลยแพทย์ช่องปาก เพื่อทำการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากเพดานปากไปปลูกถ่ายตรงเหงือกที่เสียหาย
  5. ฟันสึก ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแล อาจให้ยาทาลดอาการเสียวฟัน หรือทำการอุดฟัน
  6. เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันหรือปลายรากฟันอักเสบเป็นหนอง ทันตแพทย์จะประเมินว่ารักษาคลองรากฟันหรือทำการถอนฟัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของเนื้อฟันที่เหลืออยู่
  7. ติดเชื้อแบคทีเรียในเนื้อฟันหรือรากฟัน ซึ่งมักจะเกิดจากฟันผุหรือการบาดเจ็บ ทำให้เหงือกมีอาการบวมหรืออาจมีหนองร่วมด้วย ทันตแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาปฎิชีวนะรักษาทันที เพื่อไม่ให้เชื้อลุกลามไปยังจุดอื่น โดยยาที่นิยมใช้จะเป็นในกลุ่มยา อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) หรือ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งยากลุ่มเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
  8. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หากสาเหตุปวดฟันที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากโรคประสาทบนใบหน้า ทันตแพทย์จะให้ยาคาร์บามาซีปีน(Carbamazepine) หรือส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทาง
  9. อาการปวดร่วมจากโรคอื่นๆ หากเกิดอาการปวดฟันเพราะสาเหตุมาจากอวัยวะหรือโรคอื่นๆ ทันตแพทย์จะส่งตัวไปยังแพทย์สาขาอื่นๆเพื่อทำการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับสาเหตุที่แท้จริง 

สำหรับคนที่เคยต้องประสบกับอาการปวดฟันย่อมรู้ดีว่ามันทรมานและน่ารำคาญแค่ไหน แม้ว่าจะดูแลรักษาดีเพียงไร แต่ความเจ็บปวดที่ว่านี้ก็ยังอุตส่าห์มาเยือนในบางช่วงเวลา ทั้งเจ็บทรมานและค่ารักษาแต่ละครั้งก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่เราก็ต้องพยายามดูแล ณ เบื้องต้นให้ดีที่สุด ส่วนปลายทางก็ต้องทำตามคำแนะนำทันตแพทย์ค่ะ 

 

tt ads