
เทศกาลวันหยุดยาวมาถึงอีกแล้ว หลายๆท่านคงมีแผนที่จะเดินทางกลับบ้านหรือไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัดกัน ก่อนเดินทางควรตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหารถเสียระหว่างเดินทาง
การเตรียมความพร้อมของรถยนต์ก่อนออกเดินทางในทุกครั้งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเราจะถึงที่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สินนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของยานยนต์ที่เราอาศัยไปตลอดทุกเส้นทาง
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ขับรถควรต้องเตรียมมีอะไรบ้าง
- แบตเตอรี่ต้องมีสภาพพร้อมในการใช้งาน ขั้วแบตเตอรี่มีความแน่น ฉนวนหุ้มสายอยู่ในสภาพปกติ
- เช็คระบบเบรกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเบรกมือ เบรกหน้าและเบรกหลังให้อยู่ในสภาพปกติ ระดับน้ำมันเบรก เปลี่ยนถ่ายน้ำมันใหม่เมื่อพบว่ามันเป็นสีดำแล้ว และน้ำกลั่นต้องมีปริมาณในระดับปกติ

เช็คสภาพยางรถและเติมลมยางให้ตรงตามสเปคของรถ
- ช่วงล่างรถ เช็คศูนย์ล้อสภาพยางรถและเติมลมยางให้ตรงตามสเปคของรถ
เช็คโช้คหารอยรั่วซึม หากโช้คมีรอยรั่วจะทำให้ระบบกันสะเทือนทำงานผิดปกติ
- เปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นทุกประเภทตามระยะเวลา
- ตรวจเช็คสภาพสายพานทุกประเภทในห้องเครื่อง หากมีการฉีกขาดให้รีบเปลี่ยน
- ตรวจเช็คระดับน้ำในหม้อน้ำ และถังพักต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- ทดสอบระบบไฟแสงสว่างและไฟสัญญาณทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไฟหรี่ ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟหลัง ไฟเบรก และ ไฟฉุกเฉิน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- เตรียมยางอะไหล่ เพราะทุกการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางไกลนั้น ล้อรถมีการใช้งานที่เสียดสีกับพื้นถนนทุกรูปแบบที่ยาวนาน มีโอกาสที่จะเกิดการรั่วซึมหรือแตกได้ ดังนั้นควรจะมียางอะไหล่ไว้เพื่อความอุ่นใจ
- เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์เบื้องต้นต่างๆเหล่านี้ติดรถไว้ทุกการเดินทาง
- กล่องเครื่องมือ ควรจะมีติดรถไว้ เช่น แม่แรง ตัวขันแม่แรง ตัวขันน๊อต ไขควง มีดคัตเตอร์ ประแจหกเหลี่ยม และอุปกรณ์อื่นๆ รวมไปถึงไฟฉายที่ควรมีติดไว้ทุกการเดินทาง
- สายลากจูง มักจะถูกมองข้าม แต่ที่จริงแล้ว สายลากจูงเป็นสิ่งที่ควรมีติดไว้ในรถเสมอ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉิน จะได้ใช้สายลากจูงรถไปยังอู่ซ่อม
- สายไฟพ่วงแบตเตอรี่ ปัญหาแบตรถหมดสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ยิ่งระยะทางไกลจากการเดินทาง การมีสายพ่วงชาร์จแบตเตอรี่จะสามารถช่วยเราในกรณีแบตเตอรี่รถยนต์หมดได้
- เครื่องเติมลมขนาดพกพา จริงอยู่ว่าสามารถแวะเติมลมที่ปั๊มน้ำมันได้ แต่บางเส้นทางไม่มีปั๊มน้ำมัน บางปั๊มก็ไม่มีบริการ การมีเครื่องเติมลมพกพาจะช่วยให้เราพอจะเติมลมยางแล้วขับประคองไปถึงร้านที่รับเติมลมหรือปั๊มน้ำมันที่มีบริการ
เคยไหมเมื่อขับรถเพื่อเดินทางหรือไปทำงาน แล้วรถมาดับกลางทางเสียอย่างนั้น เชื่อว่าใครๆก็ไม่อยากให้เกิด เพราะมันน่าหงุดหงิดและแสนจะน่ากลัวถ้าเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ขับรถในเวลากลางคืน แต่บางครั้งการเดินทางก็เกิดเหตุขัดข้องได้ อันดับแรกคือควรหาสาเหตุมาจากตรงไหน หากทำการซ่อมแซมเบื้องต้นเองได้ก็ดำเนินการทันที เพราะอาจมีผลต่อความปลอดภัยหากทำการขับต่อไป ถ้ามีความผิดปกติเกินที่จะรับมือได้ ให้ติดต่ออู่ซ่อมรถที่ใกล้ที่สุด
รถสตาร์ทไม่ติด ปัญหานี้มักจะเจอได้ตอนเช้าๆหลังผ่านการจอดรถมาตลอดทั้งคืน มันอาจไม่แย่เท่าไรหากไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนไปทำงานหรือนัดสำคัญที่พลาดไม่ได้ มาดูกันว่ารถสตาร์ทไม่ติดเกิดจากอะไรได้บ้าง
- รถแบตหมด หากระบบไฟทุกอย่างในรถยนต์เปิดไม่ได้ รีโมทที่ใช้อยู่ทุกวันไม่ทำงาน แตรก็เกเรเกิดจะไม่ดังเสียอย่างนั้น แบบนี้เป็นไปได้ว่าหมดแบตเตอรี
- แบตเตอรี่เสื่อม เป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อยเช่นกัน มักจะพบอาการช่วงเช้า หรือเวลาที่จอดรถทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานนานๆ
- ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ทำงาน ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงหรือบางคนอาจเรียกว่าปั๊มติ๊ก มีหน้าที่ดูดน้ำมันจากถังเชื้อเพลิงส่งไปที่เครื่องยนต์ หากปั๊มติ๊กไม่ทำงาน ก็จะสตาร์ทรถไม่ติด
- น้ำมันหมด น้ำมันในถังเหลือในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนพลังงานให้ระบบเครื่องยนต์ทำงาน ก็เป็นสาเหตุทำให้ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถทำงานได้ปกติ
- ระบบไฟฟ้าขัดข้อง เกิดขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุ ความสะเพร่าของช่างในขณะทำการติดตั้งระบบ หรืออาจมีสัตว์เข้าไปกัดสายไฟจนเกิดความเสียหาย ฯลฯ
- ไดสตาร์ทเสีย อาการของไดสตาร์ทเสียคือ สตาร์ทรถแล้วระบบไฟในรถติดครบแต่เครื่องยนต์ไม่ทำงาน
จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด บางครั้งก็อาจสับสนอาการระหว่างแบตหมดหรือแบตเสื่อมหรือรถเสียกันแน่ทำให้ต้องวิ่งวุ่นเข้าร้านเสียเงินในเรื่องที่ไม่ควรก็มีมาแล้วกันใช่ไหม ต่อไปนี้เราจะมาดูเรื่องสาเหตุและการแก้ไขปัญหาของรถหมดแบตทำอย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงอาการของแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมเพื่อให้รู้กันไปเลยว่า อาการแบบไหนที่เราสามารถแก้ปัญหาเองได้ และอาการแบบไหนที่ควรเรียกใช้บริการศูนย์หรือร้านจำหน่ายใกล้บ้าน
แบตเตอรี่รถยนต์หมด
ปัญหาที่เจอได้บ่อยและไม่อยากจะเจอ เมื่อแบตรถหมดโทรหาอู่ซ่อมรถก็ไม่ยากเย็น แต่มันก็น่าเบื่อ ถ้าไม่เกิดปัญหาใดๆจะดีกว่าใช่ไหม แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบนี้คือแบตเตอรี่หมด?
โดยปกติแบตเตอรี่จะมีวันหมดอายุการใช้งานระบุอยู่บนแบตฯแจ้งไว้แล้ว หากแบตหมดก่อนวันที่ระบุไว้ อาจเป็นไปได้ว่าแบตเตอรี่เสื่อม อาการแบตเตอรี่รถหมดดูได้จาก สตาร์ทรถติดยาก ทั้งแตร ระบบไฟต่างๆในรถ หรือแม้กระทั่งรีโมทรถ ต่างก็พาพาลเกเรไม่ทำงานกันเสียอย่างนั้น
สาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่หมดเกิดจากอะไร
การเชื่อมต่อแบตเตอรี่ไม่ดี สายพานหลวม ระบบไฟฟ้าขัดข้อง หรือแม้แต่สนิมรอบๆขั้วแบตเตอรี่ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการทำงานของระบบชาร์จและมอเตอร์สตาร์ทที่จะดึงกระแสไฟจากแบตเตอรี่ทำให้แบตรถหมด
แบตเตอรี่รถยนต์หมดต้องทำยังไง / แบตเตอรี่รถยนต์หมดชาร์จได้ไหม
การแก้ปัญหาข้อนี้มีวิธีไม่มากซึ่งผู้ที่ขับรถหลายท่านอาจรู้แล้วแต่สำหรับมือใหม่หัดขับหรือกำลังสนใจจะหาซื้อรถคันแรกสักคัน นับว่านี่เป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะรู้ไว้
1.ชาร์จแบตเตอรี่ ถ้าเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ยังไม่นานแล้วเกิดหมดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้บนแบต สามารถชาร์จแบตเตอรี่แล้วนำมาใช้ใหม่ได้ แต่อายุการใช้งานจะหมดเร็วขึ้น
2.จั๊มป์แบตเตอรี่ ต่อสายพ่วงเพื่อทำการจั๊มจากแบตเตอรี่รถยนต์คันอื่นที่ยังมีแบตใช้งานได้ปกติ หรือถ้ามีแบตสำรองในรถหรือติดบ้านไว้ยิ่งดีเพราะสามารถทำการจั๊มได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลารอหรือหารถคันอื่นเพื่อมาทำการจั๊มป์ แต่แบตเตอรี่สำรองหากเป็นไปได้ควรจะมีขนาดใหญ่กว่าลูกที่หมดแบต
การจั๊มป์แบตเตอรี่ทำด้วยตัวเองได้แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะในแบตเตอรี่มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำกรดซึ่งมีอันตรายต่อผิวหนังและส่วนอื่นๆในร่างกาย และพยายามอย่าให้เกิดประกายไฟเพราะอาจเกิดการระเบิดได้ ที่สำคัญคือต้องไม่จั๊มป์สลับขั้ว
ชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ต้องใช้ไฟกี่แอมป์ ก่อนจะชาร์จต้องเช็คว่าแบตเตอรี่นั้นมีความจุ(Ah) เท่าไหร่ เลือกเครื่องชาร์จที่เหมาะสม และชาร์จแบตด้วยกระแสไฟไม่เกิน 10-15% ของความจุแบตเตอรี่
อย่างแบตเตอรี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ 12v ชาร์จที่แรงดัน 13.6-13.8v และชาร์จที่ 10%ของความจุแบตเตอรี่(Ah)
วิธีการคำนวณ กระแสไฟที่ควรชาร์จ = 10% × ความจุของแบตเตอรี่(Ah)
วิธีการคำนวนนี้ใช้ได้ทั้งแบตเตอรี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ เช่น…
-แบตเตอรี่รถยนต์ 12v 90Ah คำนวนด้วย 0.1×90 = 9 A
(ชาร์จด้วยกระแสไฟ 10A )
-แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ 12v 5Ah คำนวนด้วย 0.1×5 = 0.5 A
(ชาร์จด้วยกระแสไฟ 0.5 A)
ชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์กี่ชั่วโมง
การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์และการชาร์จแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์จะใช้หลักเดียวกันคือ ขนาดความจุแบตเตอรี่(Ah) และประจุไฟที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่ หากรถมีการใช้งานสม่ำเสมอ ทำให้ไดชาร์จมีการทำงานตลอด จึงมีประจุไฟในแบตมากกว่ารถที่จอดทิ้งไว้นาน ระยะเวลาที่ชาร์จจะเริ่มจาก7-20 ชม. และหากมีเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ที่มีระบบปรับกระแสไฟอัตโนมัติยิ่งดีเพราะตัวชาร์จจะช่วยให้ชาร์จแบตฯได้เร็วและไม่ทำให้แบตบวมหรือ overcharge
แบตเตอรี่ชาร์จเต็มแล้วดูได้จากอะไร หากเป็นการชาร์จปกติก็ดูได้จากแอมป์มิเตอร์(เครื่องมือวัดกระแสไฟฟ้า) เมื่อแบตใกล้เต็ม กระแสไฟจะต่ำลงและเข็มมิเตอร์จะค่อยๆตีกลับไปที่เลขศูนย์ แต่ถ้าใช้เครื่องชาร์จแบตเตอรี่รุ่นที่ตัดอัตโนมัติ เมื่อแบตเต็มเครื่องจะตัดกระแสไฟอัตโนมัติ
แต่ถ้าหากคุณทำการชาร์จไฟก็แล้วจั๊มป์ไฟก็แล้ว ไม่นานแบตก็หมดให้หน่ายใจอีก แบตเตอรี่รถชาร์จไม่เข้าหรือไฟเข้าแต่แบตรถไม่เต็ม นั่นเป็นอาการที่บ่งบอกว่าแบตเตอรี่ของคุณเริ่มเสื่อมแล้ว
แบตเตอรี่เสื่อมมีอาการอย่างไรและสาเหตุเกิดจากอะไร
โดยทั่วไปแล้วอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ของรถแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับราคาและประสิทธิภาพที่โรงงานบรรจุในแต่ละลูก แต่ที่เข้าใจก็คือมีอายุการใช้งานประมาณ2-3 ปี แต่ในระหว่างการใช้งานก็อาจมีการเสื่อมสภาพได้
อาการแบตเตอรี่เสื่อม สังเกตได้จาก สตาร์ทรถติดยาก อาจมีเสียงดังแชะๆขณะทำการสตาร์ทรถ ทั้งๆที่น้ำกลั่นก็ยังเต็ม แอร์ไม่ค่อยเย็น เสียงเครื่องยนต์ที่ควรจะดังก็ไม่ดัง เสียงที่ไม่ควรจะมีกลับดังกระหึ่มในเวลาไม่ควร แม้แต่ไฟหน้าก็สว่างน้อยลง และเมื่อนำไปชาร์จหรือจั๊มป์แบต กระแสไฟเข้าช้าหรือใช้งานแล้วแบตหมดเร็ว ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ไปเลยจะดีกว่า เพราะต่อให้พยายามยื้อเวลาไปชาร์จไฟเท่าไร ยังไงก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดีในสักวัน เหมือนกับโทรศัพท์ที่ถ้าเราฝืนใช้เครื่องที่แบตเสื่อมไปยังไงถ้าไม่ระเบิดใส่เราขณะใช้สายก็อาจระเบิดระหว่างทำการชาร์จได้ ฟังแล้วอาจดูน่ากลัวเกินจริง แต่อะไรก็คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เป็นคำตอบและการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุดแล้ว
จะซื้อแบตเตอรี่ทั้งทีทำไมช่างยากเย็น เพราะเมื่อไปที่ร้านหรือศูนย์จำหน่ายอุปกรณ์ยานยนต์ แล้วเจอพนักงานถามต้องการแบตเตอรี่แบบแห้ง/กึ่งแห้ง หรือแบบน้ำ คนที่เข้าใจและรู้สเปคแบตของรถตนเองดีจะตอบได้ทันที แต่ถ้าคนที่ไม่ค่อยได้รู้เรื่องรถได้แต่ขับเท่านั้น อาจจะยืนงงมึนตุ๊บจนอยากได้ยาพาราฯสักเม็ดสองเม็ดมาแก้อาการของตัวเองก่อนรถยนต์เป็นแน่
ซื้อแบตเตอรี่แบบไหนดี
แบตเตอรี่แบบน้ำและแบตเตอรี่แบบแห้งเป็นแบตเตอรี่น้ำทั้งคู่ แต่มีข้อแตกต่างและข้อจำกัดที่ต่างกันไป แล้วจะเลือกแบบไหนดี?
แบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำกลั่น ชื่อก็บอกได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นแบตเตอรี่แบบน้ำที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น หากน้ำกลั่นในแบตหมดหรือไม่อยู่ในระดับที่กำหนด จะส่งผลต่อเครื่องยนต์โดยตรงอาจทำให้รถสตาร์ทไม่ติด และถึงแม้ว่าแบตเตอรี่แบบน้ำจะมีการดูแลยากและวุ่นวายกว่าแบบแห้ง แต่มีความทนและใช้งานได้นานกว่าแบตทุกชนิดและยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นแบตเตอรี่ที่ช่วยเซฟเงินให้กับผู้ขับขี่ได้มากกว่าแบตชนิดอื่นๆ
แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้งSMF เป็นการพัฒนามาจากแบตแบบน้ำอีกทีโดยไม่มีช่องสำหรับใส่น้ำกลั่น จะว่าไปก็เป็นแบตเตอรี่แบบปิดได้เหมือนกัน และระบบการทำงานของแบตเตอรี่แบบแห้งไม่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นให้ยุ่งยากตลอดการใช้งานจนกว่าจะพังและทิ้งกันไปเลย ทำให้สะดวกสำหรับคนไม่ค่อยมีเวลาหรืออาจไม่ค่อยรู้เรื่องเครื่องยนต์ยานรถ และรถรุ่นใหม่ๆก็มักจะมีลูกเล่นอิเล็คทรอนิกส์เยอะขึ้น รวมไปถึงการจัดวางระบบต่างๆที่ซับซ้อนขึ้น การใช้แบตเตอรี่แบบแห้งก็จะตอบโจทย์รถรุ่นใหม่ๆมากกว่า
แบตเตอรี่รถยนต์กึ่งแห้ง หรือที่นิยมเรียกว่า Maintenance Free ยังมีช่องให้ต้องคอยเติมน้ำกลั่นอยู่บ้างแต่จะไม่บ่อยเท่าแบตเตอรี่แบบน้ำ มีผู้ขับที่ให้ความสนใจใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ระดับนึงเลย
แต่ถ้าพูดจริงๆแล้ว แบตเตอรี่แบบน้ำนั้นจะมีความทนทานในการใช้งานที่นานกว่าและราคาถูกกว่าแบตเตอรี่แห้งและกึ่งแห้ง ดังนั้นการเลือกซื้อแบตเตอรี่ลูกใหม่ขึ้นอยู่กับว่าแบตเตอรี่แบบไหนเหมาะกับรถและสไตล์การใช้รถของคุณ
แล้วเรื่องราคาล่ะ การเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งต้องเสียเท่าไร เป็นสิ่งแรกๆที่ต้องคำนึงและเป็นข้อสำคัญในการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เพราะแบตเตอรี่แต่ละลูกก็ไม่ใช่ราคาน้อยๆ
คุณอาจลังเลระหว่างแบตเตอรี่ใหม่หรือแบตเตอรี่มือสองดี ถ้าอย่างนั้นเราไปดูเรื่องราคาคร่าวๆกันดีกว่า
แบตเตอรี่รถยนต์ชนิดแห้ง อย่างที่รู้กันไปแล้วว่าแบตเตอรี่แห้ง มีความสะดวกในการใช้งานมากกว่า ชาร์จไฟได้ง่ายกว่า ขั้นตอนการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญคือมีค่า CCA (Cold Cranking Amp) กำลังสตาร์ทสูงกว่า ทำให้มีราคาที่แพงกว่าแบตเตอรี่ธรรมดา ราคาแบตเตอรี่แห้งจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อแบตเตอรี่ ประเภทของรถ จำนวนแอมป์ และระยะเวลาการรับประกัน ส่วนใหญ่การรับประกันอายุของแบตจะเริ่มที่ 12-24 เดือน และราคาเริ่มต้นที่ 1,500 – 6,000 บาท
ส่วนราคาแบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้งมือสอง ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ 300-3,700 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพและจำนวนแอมป์ที่เหลือของแบต และบางร้านอาจมีส่วนลดหากนำแบตลูกเก่าไปแลกซื้อ ซึ่งอาจลดได้ตั้งแต่ 300-1,000 บาท
แบตเตอรี่รถยนต์ชนิดน้ำเป็นแบตเตอรี่ที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานานก่อนที่จะมีแบตเตอรี่แห้งและแบตเตอรี่กึ่งแห้ง ราคาก็จะขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ชนิดของรถ จำนวนแอมป์ ค่าCCA และระยะเวลาการรับประกัน เช่นเดียวกัน ระยะเวลารับประกันเริ่มที่ 1-2 ปี ราคาส่วนใหญ่จะเริ่มที่ 1,200-5,000 บาท
ราคาแบตเตอรี่แบบน้ำมือสอง จะเริ่มราคากันที่ 200-2,000 บาท ราคาจะขึ้นอยู่กับสภาพและปริมารแอมป์ที่ยังเหลือ และอาจมีการรับประกันแถมให้อีกเล็กน้อยสัก 1-3เดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
เห็นได้ชัดว่าแบตเตอรี่แบบน้ำจะเป็นแบตเตอรี่ราคาถูกสุด แต่แบตเตอรี่แบบแห้ง มีความสะดวกและกำลังไฟชาร์จมากกว่า แต่อย่าลืมที่จะเช็ควันหมดอายุของแบตเตอรี่ทุกครั้งที่มีการซื้อใหม่ไม่ว่าจะเป็นแบตมือหนึ่งหรือแบตมือสองก็ตาม หากพบว่าวันหมดอายุของแบตเตอรี่นับจากวันซื้อแล้วเหลือวันน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือคุณคิดว่าไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป ก็อย่าได้ตัดสินใจซื้อและเปลี่ยนไปดูลูกอื่นหรือร้านอื่นแทน
นอกจากชนิดของแบตเตอรี่แล้ว ต้องรู้ว่ารถของคุณที่ใช้อยู่นั้นใช้แบตเตอรี่กี่แอมป์ แบตเตอรี่ขั้วซ้ายหรือขั้วขวา เพราะขั้วบวกแบตเตอรี่ในรถแต่ละรุ่นไม่ได้มีข้างเดียวกันเสมอไป อาจข้างซ้ายหรือขวาแล้วแต่ยี่ห้อและรุ่นของรถ
ส่วนใหญ่แบตเตอรี่รถจะมีตัวอักษร L (Left) , R (Right) ต่อท้ายรุ่นหรือจำนวนแอมป์ของแบตลูกนั้นๆ เป็นการบอกด้านขั้วของแบตนั่นเอง เช่น แบตเตอรี่ของ G7 Ns80R คือ G7 : ยี่ห้อแบตเตอรี่ Ns : ชื่อรุ่น R : ขั้วขวา
แบตเตอรี่กี่แอมป์? “แอมป์” หรือ “Ah” คือ หน่วยความจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ ที่ใช้วัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่แบตเตอรี่จ่ายใน1ชั่วโมง
(A : หน่วยกระแสไฟฟ้า / h : ชั่วโมง) เช่น แบตเตอรี่ 90Ah คือ แบตเตอรี่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถได้ 90 แอมป์ ใน 1 ชั่วโมง
หากคุณเลือกใช้บริการให้ร้านที่มีผู้เชี่ยวชาญหรือศูนย์ทำการติดตั้งแบตเตอรี่ลูกใหม่ให้กับรถของคุณ ก็คงไม่มีอะไรน่ากังวลเพียงแต่ต้องคอยสังเกตว่าแบตเตอรี่ใหม่มีไฟเต็มหลังจากการติดตั้งเสร็จสิ้นและบางร้านอาจมีการตอกวันที่ทำการใช้แบตลงไปให้ด้วย
แต่ถ้าคุณไปซื้อแบตเตอรี่มาทำการติดตั้งเอง ต้องยึดแบตกับแท่นว่างให้แน่น อย่าให้หลวมหรือตัวแบตฯเคลื่อนได้ ขณะทำการใส่ขั้ว ควรให้ขั้วสวมใหญ่กว่าขั้วแบตเพื่อสะดวกในการสวมต่อขั้ว เมื่อต่อขั้วเสร็จเรียบร้อย หากไม่อยากให้เกิดขี้เกลือในภายหลังอาจนำจาระบีมาทาให้ทั่วหัวขั้วก่อนจะต่อขั้วดินก็เป็นอันเสร็จสิ้น
เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่กันบ่อยๆ เพราะอย่างที่รู้ว่าราคาก็ไม่ใช่ย่อย ดังนั้นทำอย่างไรถึงจะถนอมแบตเตอรี่ให้อยู่กับรถของเราไปให้นานที่สุดล่ะ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ได้ยากเลย
อันดับแรกคือ คอยตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่สม่ำเสมอ อย่าให้มีการชำรุดหรือรอยแตกร้าวเพราะจะส่งผลต่อการเก็บประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่
ศึกษาการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่เพื่อจะได้ใช้อย่างถูกต้องและยืดอายุไม่ให้แบตเสื่อมง่าย หรือทำให้แบตเตอรี่หมดเร็ว
ความสะอาดของขั้วแบตเตอรี่ก็สำคัญ นอกจากจะทาจาระบีที่หัวขั้วตอนติดตั้งแบตแล้ว แต่ถ้ามีคราบเกลือขึ้นก็สามารถราดน้ำร้อนลงไปเพื่อทำละลายขี้เกลือออกไป
ระดับน้ำกลั่นอย่าให้เหลือน้อยกว่าปริมาณที่ควรจะเป็น ต้องคอยตรวจเช็คและเติมน้ำกลั่นประจำหรือยิ่งมีการใช้งานรถบ่อยก็ต้องคอยเช็คบ่อยตาม
ไฟชาร์จอัลเตอร์เนเตอร์ ต้องพอดี ไม่ต่ำไปหรือสูงไป เพราะเมื่อสตาร์ทรถแล้วหากระบบไฟต่ำไปจะทำให้มีกำลังไฟใช้ไม่พอ แต่ถ้าสูงไปก็ทำให้น้ำกลั่นระเหยเร็ว
เมื่อได้แบตใหม่มาหากเป็นกรณีไปติดที่ร้านไปหาซื้อเองตามร้านที่ไม่ใช่บริษัทหรือโรงงานจำหน่ายแบตเตอรี่ยี่ห้อนั้นๆโดยตรง ส่วนใหญ่ร้านจะไม่ได้ทำการชาร์จแบตเตอรี่ให้นอกจากคุณจะแจ้งทางร้านหรือช่างแล้วรอตรงนั้นเลย เพราะการชาร์จไฟในแต่ละครั้งค่อยข้างใช้เวลานานและร้านเองก็ไม่รู้หรอกว่า ลูกค้าที่จะมาซื้อในแต่ละวันจะเลือกซื้อยี่ห้อไหน ลูกไหน ทำให้เสียเวลาของเขาโดยใช่เหตุ
ฉะนั้นหากคุณไม่อยากมาเสียเวลามาชาร์จเองที่บ้านและต้องการใช้งานรถเพื่อการเดินทางไกลเลย การเลือกซื้อแบตเตอรี่ใหม่จากโรงงานหรือบริษัทที่จำหน่ายแบตเตอรี่โดยตรงจะเป็นอะไรที่สะดวกและคุ้มค่ากับการจ่ายของคุณอย่างแน่นอน เพราะบริษัทเหล่านั้นจะชาร์จไฟแบตเตอรี่เต็มทุกลูกพร้อมใช้ในการเดินทางทุกใกล้-ไกล มั่นใจถึงคุณภาพและความปลอดภัยที่จะได้
แล้วกรณีที่คุณซื้อเองติดตั้งเองไม่ง้อร้านไม่ง้อช่างล่ะ อันที่จริงเมื่อซื้อแบตมาใหม่หากคุณไม่สะดวกในการชาร์จหรือรีบใช้รถ ก็สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้เลย เพราะไดชาร์จจะทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว แต่อายุการใช้งานจะสั้นกว่าแบตที่ชาร์จไฟก่อนเท่านั้นเอง เหมือนกับเวลาที่เราซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ จะมีไฟในแบตให้พอใช้งานได้นิดหน่อย ควรจะชาร์จไฟทิ้งไว้ให้เต็มก่อนใช้งานครั้งแรกจึงจะช่วยรักษาแบตให้ใช้ได้นานและไม่เสื่อมเร็ว
แล้วต้องใช้เวลาเท่าไรในการชาร์จไฟแบตเตอรี่รถยนต์ตครั้งแรก?
เมื่อจะชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ครั้งแรก ต้องไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง หรืออาจไม่เกิน 16 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแบตเตอรี่บวม และควรชาร์จไฟแบตเตอรี่ให้เต็มทุกครั้ง เพื่อพร้อมใช้งานได้เสมอ
ส่วนในกรณีที่บางคนอาจเคยถกเถียงกันว่า ระหว่างชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไม่ถอดสายหรือถอดสายดีกว่ากันนั้น คำตอบที่ได้คือ ชาร์จได้ทั้งถอดและไม่ถอดสาย และชาร์จได้แม้ไม่ยกแบตเตอรี่ออกจากรถ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรถอดขั้วแบตออกเพราะอาจทำให้ระบบไฟรวนได้
เพราะว่า “รถ” เป็นปัจจัยที่ห้าในชีวิตปัจจุบัน เพราะสามารถพาเราไปถึงที่หมายได้โดยไม่ต้องเดิน ยิ่งมีรถเป็นของตัวเองก็ยิ่งสร้างความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัวในทุกเส้นทาง ไม่ต้องไปเบียดเสียดกับใครๆ หรือเสียเวลาในการรอรถโดยสารแต่ละครั้ง และอีกหลายๆเหตุผลที่คนให้ค่ากับรถจนเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแลก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคนที่ต้องการรถดีๆสักคันมาครอบครอง
เนื่องจากช่วงนี้อาจมีใครหลายคนอาจต้องจอดรถทิ้งไว้นานๆ และนั่นอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เมื่อถึงเวลาใช้งาน เราจึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแต่ดีมากมาฝาก
วิธีง่ายๆในการดูแลรถระหว่างจอดทิ้งไว้หรือไม่ได้ใช้งานนานๆ
- จอดรถในที่ร่ม ในที่ร่มนี้หมายถึงจอดในที่อาคารหรือสถานที่มีหลังคากันแดดกันฝนได้ เพราะจอดรถตากแดดนานๆ สีรถอาจซีดหรือยางแบนยางเสียได้ หากไม่มีสถานที่ร่มให้จอดหรือจำเป็นต้องจอดกลางแดด ควรมีผ้าสำหรับคลุมรถไว้สักหน่อย เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันเรื่องอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว ยังจะช่วยไม่ให้คุณต้องกลายเป็นไก่อบโอ่งเมื่อเข้าไปในรถอีกด้วย
- ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มก่อนจะจอดทิ้งไว้ เพราะแบตเตอรี่มักจะเป็นปัญหาอันดับต้นๆสำหรับรถที่จอดทิ้งไว้นานๆ เนื่องจากแบตจะคายประจุไฟอยู่ตลอดเวลา เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่มีกำลังอ่อนลงจนเมื่อกลับมาจะใช้งานรถอาจทำให้สตาร์ทรถไม่ติดหรือติดยาก
- ก่อนจะจอดรถทิ้งไว้ ควรเติมลมยางให้เต็มจนแน่น เพราะเมื่อรถถูกจอดทิ้งไว้นานๆ ลมยางจะค่อยๆซึมออกจนทำให้ยางแบน หากเป็นไปได้ควรเลือกเติมด้วยลมไนโตรเจนเพราะจะซึมได้ช้าและนานกว่าลมทั่วไป และเมื่อจะทำการขับขี่รถ ควรตรวจสภาพยางรถก่อนทุกครั้ง
- หมั่นตรวจเช็คระบบไฟ ระบบเครื่องยนต์ต่างๆในรถอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงสายพานสายไฟต่างๆหน้ารถ หากมีรอยขาดหรือชำรุดจะได้มีการแก้ไขทันที
- เติมน้ำมันให้เต็มถังเสมอ เพื่อป้องกันหยดน้ำที่สะสมและเกาะตามท่อจนเป็นสนิมในถัง
- นำรถออกมาขับบ้าง อาจเป็นระยะใกล้ๆ หรือหน้าหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการกดทับของล้อยางด้านเดียว และให้ไดชาร์จกับแบตเตอรี่ได้ทำงานบ้าง
- ล้างทำความสะอาดรถบ้าง เพราะการจอดรถนาน อาจมีคราบฝุ่นละอองที่จับตัวกันหนาทั่วบริเวณรถ อาจมีนกบินผ่านแล้วฝากขี้ไว้ให้เป็นที่ระลึก
เพียงเท่านี้รถของคุณก็จะน่ารัก ไม่ทำตัวเกเรสตาร์ทไม่ติดในชั่วโมงเร่งรีบ หรือสร้างปัญหากวนใจเรื่องดับกลางทาง และถ้าคุณไม่อยากเป็นแบบเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายล่ะก็ ควรคำนึงถึงการเลือกแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่เชื่อถือได้
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องหงุดหงิดกับอาการรถแบตเตอรี่หมดอีกต่อไป เพราะนอกจากจะเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม “ความปลอดภัย” ก็ยังเป็นหัวใจหลักสำหรับทุกการเดินทาง