tt ads

“สงกรานต์” หรือ ตรุษสงกรานต์ ถือเป็น “วันปีใหม่ไทย” ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน กิจกรรมและการละเล่นในวันสงกรานต์ ที่ยึดถือเป็นประเพณี และจัดทำขึ้นในวันสงกรานต์นี้ คนไทยทุกคนจะรู้ว่ามีการเล่นน้ำ ปะพรมแป้ง รดน้ำพระหรือสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้น้อยแสดงความกตัญญู ส่วนผู้ใหญ่ก็แสดงความเมตตาให้พรแก่ลูกหลาน  แต่จะกี่สักมากน้อยที่จะรู้ที่มาของ ประเพณีสงกรานต์ และนางสงกรานต์ นั้นมีที่มาอย่างไร เราจะมาสืบรู้ประวัติวันสงกรานต์ ที่คนไทยควรจะรู้ในบทความนี้กันดีกว่า 

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายถึง การเคลื่อนย้าย ซึ่งในที่นี้คือการเคลื่อนย้ายของจักรราศี หรือเป็นการเลื่อนวันสู่การขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อของคนไทย และในบางประเทศแถบโซนเอเชีย อีกทั้งยังเป็นวัฒนธรรมร่วม ระหว่างประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน และ ศรีลังกา โดยมีการสันนิษฐานว่า สงกรานต์เป็นประเพณีที่มีอิทธิพลมาจาก เทศกาลโฮลี ของประเทศอินเดีย ที่จะมีการจัดขึ้นทุกปีในเดือนมีนาคม โดยมีกิจกรรมเป็นการสาดผงสี ในขณะที่ประเทศไทยจะเป็นการรดปะพรมน้ำ  

แม้ว่ามีหลายประเทศในเอเชียมีประเพณีสงกรานต์ แต่จะมีความแตกต่างกันไป ทั้งการกำหนดวันประเพณี รูปแบบ และกิจกรรมอื่นๆ แต่สำหรับในประเทศไทย วันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี อีกทั้งยังกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ที่คนทั่วไปมักจะเรียกกันติดปากว่า “วันหยุดสงกรานต์” 

ก่อนที่จะมีการถือเอา วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ไทย ได้มีการยึดเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ที่อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี หรือวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาในสมัยกรุงสุโขทัย ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามคติพราหมณ์ ให้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เมษายน) เป็นวันปีใหม่ จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนอีกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกำหนดให้วันปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายน เมื่อปี พ.ศ. 2432 จนกระทั่งปี พ.ศ.2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากล โดยที่คนไทยก็ยังคงระลึกถึงวันที่ 13 เมษายน เป็นวันปีใหม่ไทย และยังคงมีการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ จนได้มีการกำหนดให้เป็นวันสงกรานต์มาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีรดน้ำดำหัว

การรดน้ำดำหัว เป็นประเพณีดั้งเดิมของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันในครอบครัว หรือหมู่ญาติ คนสนิท ไม่ว่าจะรดน้ำดำหัวพ่อแม่ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพ โดยการใช้น้ำรด ปะพรม เพื่อคลายร้อนและเพิ่มความสดชื่นให้แก่กัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน พิธีสงกรานต์จะมีกิจกรรมหลักๆ ดังนี้ 

  • ทำบุญตักบาตรตอนเช้า 
  • สรงน้ำพระที่บ้าน พระพุทธรูปที่มีอยู่ในบ้าน 
  • ไปทำบุญฟังธรรมที่วัด และสรงน้ำพระที่วัด 
  • ขนทรายเข้าวัด เพราะเชื่อว่าเป็นการขนทรายคืนวัด ที่เราเคยเดินเหยียบทรายในวัดติดออกไป 
  • รดน้ำพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ และผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อแสดงความเคารพ เป็นการขอขมาวันสงกรานต์ ที่เคยล่วงเกิน และขอพรจากผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • รดน้ำสงกรานต์ ปะพรมน้ำ ละเล่นการสาดน้ำ 

นางสงกรานต์

วันสงกรานต์ ก็ย่อมต้องมี “นางสงกรานต์” แต่มีใครรู้ถึงความเป็นมาของนางสงกรานต์บ้างไหมเอ่ย?

ได้มีการจารึกถึงประวัตินางสงกรานต์โดยย่อในศิลาจารึก ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มีใจความว่าดังนี้

เมื่อครั้งที่ ธรรมบาลกุมาร ซึ่งเป็นเทพบุตร ได้รับคำสั่งจากพระอินทร์ให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี และเมื่อธรรมบาลที่เกิดเป็นมนุษย์ได้เติบโตขึ้น ได้เรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ และเรียนรู้ภาษานกจนสามารถเข้าใจได้  จนได้ถูกยกให้เป็นอาจารย์คอยให้คำปรึกษาแก่คนทั้งหลาย จวบจนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้เสด็จลงมาเพื่อสอบถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ หากธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ ก็จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารแทน ธรรมบาลกุมารได้ตอบรับ แต่ขอเวลา 7 วัน สำหรับการให้คำตอบ

ผ่านไป 7 วัน ท้าวกบิลพรหมก็ได้มาหาธรรมบาลกุมารอีกครั้งตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะคำตอบที่ธรรมบาลได้เตรียมไว้ให้ ซึ่งเขาได้ยินมาจากนกนั้น ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องพ่ายแพ้ แต่เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง หากตกถึงพื้น ไฟจะไหม้โลก หากโยนขึ้นบนอากาศก็จะทำให้ฝนแล้ง แต่ถ้าทิ้งลงในแม่น้ำหรือมหาสมุทร น้ำจะเหือดแห้ง ดังนั้น ก่อนที่จะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เรียกธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ โดยธิดาทั้ง 7 จะต้องคอยผลัดเปลี่ยนดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และทำหน้าที่อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม แห่รอบเขาพระสุเมรุ โดยใช้เวลา 60 นาที ก่อนจะนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ณ เขาไกรลาศ ผลัดเวียนเปลี่ยนกันอย่างนี้ทุกๆปี โดยธิดาแต่ละองค์ จะเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ นี่จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ นั่นเอง 

เมื่อถึงวันสงกรานต์ตรงกับวันใด จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆทำหน้าที่ และถูกกล่าวถึง โดยมีชื่อนางสงกรานต์ทั้ง 7 วัน ได้แก่ 

  • นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์  :  นางทุงษเทวี
  • นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์    :  นางโคราดเทวี 
  • นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร   :  นางรากษสเทวี 
  • นางสงกรานต์ประจำวันพุธ        :  นางมัณฑาเทวี 
  • นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี : นางกิริณีเทวี 
  • นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์      :  นางกิมิทาเทวี 
  • นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์     :  นางมโหทรเทวี 

วันมหาสงกรานต์ 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน ดังนั้น นางสงกรานต์ ปี 2565 จึงเป็นนางกิริณีเทวีโดยทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา มีอาภรณ์เป็นแก้วมรกต พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาบนหลังกุญชร (ช้าง) 

สำหรับ เทศกาลสงกรานต์ 2565 นี้ ยังคงอยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 จึงอาจยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่เราก็รักษาประเพณีไทยดั้งเดิมไว้ได้ ด้วยการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ในบ้าน ทำบุญออนไลน์ ชวนลูกหลานสวดมนต์ที่บ้าน หรือขนทรายเข้าวัด ส่วนสำหรับการเล่นน้ำ สามารถใช้อุปกรณ์ขันตักน้ำ หรือปืนฉีดน้ำขนาดเล็กที่ไม่อันตราย และใช้วิธี ริน รด พรม อย่างสุภาพ โดยสามารถเล่นได้ที่บ้าน หรือในพื้นที่มีการจัดงานที่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคระบาดเท่านั้น เพื่อได้เล่นกันอย่างสนุก และสืบสานประเพณีไทยอย่างปลอดภัยถ้วนหน้า 

 

tt ads