
เชื่อว่าหลายคนมักจะได้ยินกันว่าเป็นโรคเก๊าท์ ห้ามกินไก่ จริงหรือมั่ว วันนี้ doo-den จะมาชวนทุกคนค้นหาคำตอบกันค่ะ
โรคเก๊าท์ เกิดจากอะไร
โรคเก๊าท์ (Gout) เกิดจากข้อต่อหรือเนื้อเยื่อรอบข้อมีการอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุมาจากมีกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จนกรดยูริกกลายเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมาก ซึ่งปกติร่างกายจะขับกรดยูริกออกผ่านทางไต เพราะกรดยูริกถือว่าเป็นของเสียสำหรับร่างกาย และการที่ร่างกายมีกรดยูริกสูงเกินไปเกิดได้จากหลายปัจจัย จนก่อให้เกิดภาวะโรคเก๊าท์ อาหาร พันธุกรรม หรือความผิดปกติในอวัยวะของร่างกาย เช่น ไต เป็นต้น
โรคเก๊าท์มีอาการอย่างไร
โดยโรคเก๊าท์อาการเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ คือ มีอาการอักเสบบริเวณข้อต่อแบบเฉียบพลันบ่อย ๆ หรือมีอาการตึง บวม แดง และรู้สึกแสบร้อนบริเวณข้อต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักจะเกิดอาการที่ข้อต่อกระดูกฝ่าเท้า หรือ โคนนิ้วหัวแม่เท้า และแม้แต่หลังหูก็สามารถเป็นได้เช่นกัน อาการของโรคเก๊าท์ที่พบได้บ่อย คือ ปวดแสบปวดร้อน เจ็บปวดรุนแรง ผิวหนังรอบ ๆ ข้อบวมแดงและแวววาวมากขึ้น โดยความรุนแรงของอาการจะอยู่ในช่วง 4 – 12 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และอาการเหล่านี้อาจยาวนานต่อเนื่อง 1 – 3 วัน หรือ 2 – 3 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
โรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร
อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารจำพวกที่มีสารพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัม เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารพิวรีน จะมีการสลายให้กลายเป็นกรดยูริก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการเก๊าท์กำเริบนั่นเอง แล้วอาหารอะไรบ้างที่คนเป็นเก๊าท์คนเลี่ยง …
- ไต
- ตับ
- ไส้ตัน
- เนื้อเป็ด
- เนื้อไก่
- ไข่ปลา
- ปลาทู
- ปลาซาร์ดีน
- หอยเชลล์
- กะปิจากปลาไส้ตัน
- น้ำปลา
- น้ำสกัดจากเนื้อเข้มข้น
- น้ำต้มเนื้อ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
อาหารอะไรที่คนเป็นเก๊าท์กินได้
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ สามารถรับประทานได้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- อาหารที่มีสารพิวรีน 0 – 50 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมาก โดยสามารถทานอาหารเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องจำกัดปริมาณ เช่น ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี ไข่ นม กะทิ เนย น้ำมันหมู ผักและผลไม้ทุกชนิด ข้าวโพด เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมไปถึงขนมหวานและเบเกอรี่ต่าง ๆ เช่น ทองหยิบ ทอยหยอด ขนมปัง เค้ก คุกกี้ หรือแม้แต่เครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ หรือ โกโก้ เป็นต้น
- อาหารที่มีสารพิวรีน 50 – 150 กรัม เพราะถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่สูงมาก ลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่ออาการเก๊าท์กำเริบ สามารถทานได้ แต่ต้องจำกัดปริมาณ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว ปู กุ้ง ส่วนเครื่องในสัตว์ อย่าง กระเพาะ และ ผ้าขี้ริ้ว สามารถทานได้ และพืชผักจำพวก หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ดอกกะหล่ำ เห็ด ชะอม และ ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเนื้อไก่จะเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยง แต่เนื้อไก่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดการเป็นเก๊าท์ เพียงแต่เนื้อไก่มีสารพิวรีนสูง ผู้ที่เป็นเก๊าท์จึงควรระมัดระวังในการทานไก่ โดยควรทานไก่ในปริมาณที่จำกัด แต่ถ้าไม่แน่ใจก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ทานเลย เปลี่ยนไปทานอาหารที่มีพิวรีนต่ำแทน จะช่วยลดโอกาสความเสี่ยงที่ก่อให้อาการเก๊าท์กำเริบได้ค่ะ