tt ads

 

เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยไปแล้วถึง 27จังหวัดและกำลังมุ่งหน้าสู่ปริมณฑลฯ และอาจต่อด้วยกรุงเทพฯ จากฤทธิ์ของพายุเตี้ยนหมู่ที่ทางประเทศจีนเรียกขนานนามให้ชื่อพายุลูกนี้ ซึ่งมีความหมายว่าเจ้าแม่แห่งสายฟ้า แม้ว่า ณ ตอนนี้อาจดูเหมือนว่าเจ้าแม่สายฟ้าจะเริ่มอ่อนกำลังลง แต่ก็ยังส่งผลให้น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง หลายร้อยพันบ้านเรือนต้องประสบกับความเสียหาย เดือดร้อนไปทั่ว เรื่องอุทกภัยเราคงจะห้ามไม่ได้ แต่สำหรับผู้อยู่ในพื้นที่ที่น้ำยังมาไม่ถึงหรืออาจเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง สามารถป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยการเตรียมตัวก่อนน้ำมาถึงพื้นที่ดังต่อไปนี้ 

1.ติดตามข่าวสารสถานการณ์และเฝ้าระวังภัย ติดตามความเป็นไปได้อย่างใกล้ชิด โดยลักษณะการเตือนภัยมี 4 ประเภท 

1.1 การเฝ้าระวังน้ำท่วม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วม และอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์ 

1.2 การเตือนภัยน้ำท่วม เตือนภัยจะเกิดน้ำท่วม 

1.3 การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง 

1.4 ภาวะปกติ พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หรือเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ 

 

ควรรู้หรือจดหมายเลขติดต่อหน่วยงานต่างๆไว้เผื่อกรณีต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหมายเลขที่ควรรู้และมีไว้ 

 

สายด่วนควรรู้

  • 1669  บริการแพทย์ฉุกเฉินและจัดส่งโรงพยาบาล ศูนย์นเรนทร 
  • 1784  สายด่วนนิรภัย 
  • 192 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
  • 1111 กด 5  (ศปภ.) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สายด่วนรับแจ้งเตือนภัย 154 คู่สาย 24 ชั่วโมง 
  • 022485115 ขอความช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วม (พื้นที่กรุงเทพฯ) 
  • sms 4567892 ฟรี สำหรับมือถือทุกเครือข่าย แจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือเหตุน้ำท่วม 
  • 1182 กรมอุตุนิยมวิทยา 
  • 191 สายด่วน
  • 1193 กรมตำรวจทางหลวง
  • 1356 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1130 การไฟฟ้านครหลวง
  • 1323 กรมสุขภาพจิต 

หากพักอาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม ให้จัดเตรียมแผนเพื่อรับมือดังต่อไปนี้…

  • เตรียมเสบียงอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรคให้มากที่สุด
  • จัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉินให้เพียงพอต่อสมาชิกในบ้านอย่างน้อย 3 วีน
  • เตรียมชาร์จโทรศัพท์ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลารวมถึงแบตสำรอง 
  • จัดเตรียมระบบไฟสำรอง เช่น ไฟฉาย เทียน ไฟแช็ค ถ่านไฟฉายให้พร้อม 
  • เก็บเอกสารสำคัญใส่ซองกันน้ำ
  • ควรมีนกหวีดติดตัวไว้เผื่อในกรณีต้องการความช่วยเหลือหรือเหตุฉุกเฉิน 
  • ใข้เทปกาวหรืออุปกรณ์ที่สามารถปิดช่องปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต
  • ฝึกซ้อมหนีน้ำท่วม ต้องรู้เส้นทางอพยพที่ปลอดภัยที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่โกลาหลหากเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก สตรีมีครรภ์ ต้องเตรียมเส้นทางสำหรับเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 
  • แจกแจงหน้าที่ให้สมาชิกในบ้านดูแลแต่ละส่วน เมื่อเกิดน้ำไหลบ่ามาถึง
  • หาอุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าบ้าน เช่น การหาถุงทรายมาวางขวางกั้นกันน้ำเข้าบ้าน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยวางกระสบทรายเป็นแนวทางน้ำไหล ให้ห่างจากที่พักอาศัยประมาณ 25 เมตร ให้ปากถุงหันไปทางบริเวณที่แห้ง 

2.สิ่งที่ควรทำเมื่อได้รับการเตือนภัยจากหน่วยงานด้านเตือนภัยน้ำท่วม 

  • หากคุณอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด อย่านำสัมภาระติดตัวมากเกินไป 
  • กรณีคุณอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ให้ดำเนินการตามแผนรับมือน้ำท่วมที่ได้วางแผนไว้แล้ว 
  • ปิดกั้นช่องทางน้ำที่สามารถไหลเข้าบ้านได้ให้หมดทุกช่องทาง ทั้งห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ ท่อน้ำทิ้งอ่างล้างจาน 
  • ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊สให้หมด ยกขึ้นไว้ที่สูง อย่าเข้าใกล้สายไฟฟ้าและเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด และตัดระบบไฟฟ้าในบ้านทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าช็อตหรือไฟดูด 

3.สิ่งที่ควรทำระหว่างเกิดน้ำท่วม 

 กรณีอยู่นอกบ้าน

  • ไม่ควรเดินทางหรือขับรถตามเส้นทางน้ำไหล หรือพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม
  • ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ 
  • ถอยหลังกลับไปยังทางเดิมทันทีหากรู้สึกถึงกระแสไฟฟ้า 
  • สวมเสื้อผ้าที่กระชับ ทะมัดทะแมง และมีสีสว่าง 
  • เลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรง หรือควรสวมรองเท้าบูทหรืออุปกรณ์ป้องกันสิ่งสกปรกและอันตรายจากการลุยน้ำ 

กรณีอยู่ในบ้าน 

  • ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดและไม่ควรเข่าใกล้ เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดอาจเกิดการช็อตได้แม้จะไม่ได้เสียบปลั๊ก ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ 
  • หากน้ำท่วมเข้าในบ้าน ก็ต้องเดินอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจากโคลน เศษแก้ว ขยะ ของมีคม ที่ลอยมากับน้ำ 
  • ระวังสัตว์มีพิษและอันตรายที่หนีน้ำเข้ามาหลบอยู่ในบ้าน 
  • ระวังแก๊สรั่ว หากได้กลิ่นแก๊สควรอยู่ให้ห่างๆและไม่ควรสูบบุหรี่ ใช้ไฟฉายส่องดูเพื่อตรวจสอบความเสียหาย 
  • หากต้องการใช้เตาย่างหรืออุปกรณ์ที่มีควันไฟ ควรใช้นอกบริเวณบ้าน เพราะควันที่เกิดจากอุปกรณ์เหล่านี้เป็นคาร์บอนมอนออกไซด์ที่มีพิษและไม่ควรใช้ในบ้าน 

 

4.วิธีรับมือหลังเกิดน้ำท่วม 

  • ดูแลสภาพจิตใจคนในครอบครัว แน่นอนว่าหลังจากอุทกภัยจะมีการสูญเสีย ดังนั้นควรดูแลสภาพจิตใจคนในครอบครัวและคนรอบข้าง พูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้มีการปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น ไม่ทำการต่อว่าหรือคาดหมายโทษกับเด็กๆและสัตว์เลี้ยงที่ไม่เชื่อฟัง เพราะไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือสัตว์ต่างๆ ก็มีการตระหนกตื่นกลัวได้เหมือนกันหมด 
  • ตรวจสภาพบ้านหาร่องรอยความเสียหาย ตรงไหนชำรุด มีรอยรั่ว จะได้ทำการซ่อมแซม ตรวจบริเวณรอบบ้านและในบ้านให้ทั่วถึงเผื่อมีสัตว์อันตรายเข้ามาหลบภัยหรือลอยมากับกระแสน้ำ จะได้ทำการเรียกผู้เชี่ยวชาญมาจัดการพาออกไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 
  • เก็บกวาดและทำความสะอาดบ้าน โดยสามารถใช้น้ำยาซักผ้าขาวผสมน้ำสะอาดในสัดส่วน 1:9 (น้ำยาซักผ้าขาว : น้ำสะอาด) 

 

เห็นได้ว่าภัยธรรมชาตินั้นน่ากลัวกว่าที่คิดและเราก็หลีกหนีภัยธรรมชาติไม่ได้ ตราบใดที่ยังคงอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ จึงต้องมีการยอมรับและปรับตัวให้ได้ทุกสถานการณ์ แต่จะดีกว่า..หากเราหันมาใส่ใจและให้ความร่วมมือกันดูแลสิ่งแวดล้อม ลดขยะที่ไม่จำเป็น ใช้ไฟฟ้าเท่าที่เหมาะสม ฯลฯ เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพียงแค่หันกลับมาและลงมือทำอย่างจริงจังเสียที อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ หากมนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ได้ ธรรมชาติอาจกำจัดเราเหมือนที่เรากวาดขยะให้พ้นบ้านฉันใดก็ฉันนั้น 

 

tt ads