tt ads

รู้หรือไม่ วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี ถูกจัดให้เป็น “วันไบโพลาร์โลก” แถมยังตรงกับวันเกิด ศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง “แวนโก๊ะ” (Vincent Van Gogh) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไบโพลาร์เช่นกัน 

เราจึงมาชวนทุกคนให้รู้จักกับ ไบโพลาร์ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว ซึ่งมีผู้ป่วยโรคนี้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ให้มากขึ้น เพื่อจะได้รับมือ ทำการรักษา และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไร้ทัศนคติทางลบ 

วันไบโพลาร์โลกมีความเป็นมาอย่างไร 

วันไบโพลาร์โลก หรือ World Bipolar Day (WBD) เกิดขึ้นจากไอเดียขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคไบโพลาร์โดยตรง ซึ่งมี 3 องค์กรด้วยกัน ได้แก่ Asian Netwotk of Bipolar Disorder (ANBD) , International Society for Bipolar Disorder (ISBD) และ International Bipolar Foundation (IBPF) โดยมีจุดประสงค์รณรงค์ให้คนทั่วโลกได้เข้าใจถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ป่วยไบโพลาร์ เพื่อขจัดความเข้าใจผิดของผู้คนรอบข้าง และลดความอับอายของผู้ป่วย ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร้อคติ รวมไปถึงการร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยไบโพลาร์ที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  

โรคไบโพลาร์คืออะไร 

โรคไบโพลาร์ คือ โรคทางสมองที่มีความปรับเปลี่ยนทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว เกิดจากความผิดปกติของสื่อประสาทที่ไม่สมดุล ส่งผลต่อการทำงานของสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่าย ๆ โดยคนปกติทั่วไปจะมีหลากหลายอารมณ์ เสียใจ ดีใจ โกรธ เศร้า และมีปุ่มสวิตซ์กดปรับเปลี่ยนโหมดอารมณ์ตามความเหมาะสมต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบ แต่เมื่อปุ่มสวิตซ์นั้นเสียหรือทำงานผิดปกติ ระบบสวิตซ์รวน ทำให้โหมดอารมณ์เปลี่ยนไปมาและสวิงมากผิดปกติกว่าอารณ์ขึ้น-ลงของคนทั่วไป  

 

โรคไบโพลาร์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bipolar Disorder โรคอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวันและผู้คนรอบข้าง จนอาจทำให้สภาพจิตใจผู้ป่วยแย่ลงและมีอาการของโรคเลวร้ายลงเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาและขาดความเข้าใจจากคนใกล้ชิดและสังคม  

 

ผู้ป่วยไบโพลาร์อาการไม่มีรูปแบบแน่นอน อารมณ์สวิงขึ้น-ลงได้ง่าย อารมณ์ดีอยู่ครู่หนึ่ง จู่ ๆ เปลี่ยนเป็นร้องไห้ เศร้า เสียใจ หรือก้าวร้าว ชวนทะเลาะ โดยไม่มีเหตุผล บางครั้งอารมณ์เปลี่ยนไปมาในช่วงวันเดียวกัน แต่บางครั้งก็อาจอยู่ในช่วงอารมณ์ดี หรือหงุดหงิดง่ายนานเป็นสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือน 

 

อาการของโรคไบโพลาร์ 

เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์มีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ มักมีลักษณะดังนี้ 

  • พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่หยุด 
  • สำคัญตนเหนือกว่าและเก่งกว่าใคร 
  • คิดเร็ว สมองแล่น เปลี่ยนใจเร็ว 
  • ไม่หลับ ไม่นอน กระสับกระส่าย นอนน้อยแต่ไม่เพลีย 
  •  มีโครงการหลากหลาย แต่มักล้มเลิกเสียก่อน
  • ทำพลาดบ่อยครั้งเพราะการตัดสินใจที่ไม่ดี เช่น การลงทุน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 
  • สมาธิลดลง เปลี่ยนเรื่องไวตามสิ่งเร้า 

 

เมื่อผู้ป่วยไบโพลาร์มีภาวะซึมเศร้า เข้าสู่โหมดลบ มักมีลักษณะดังนี้ 

  • หมดกำลังใจ ไร้ความหวัง ท้อแท้  
  • ร้องไห้ง่าย ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ 
  • รู้สึกเหงา เหมือนอยู่ลำพังในโลกใบนี้ 
  • รู้สึกเศร้า หม่นหมอง หดหู่ อยากอยู่คนเดียว  
  • หมดความสนใจในสิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมโปรด 
  • มีความคิดลบ คิดช้า ไม่มีสมาธิ 
  • รู้สึกไร้ค่า ไม่มีใครต้องการ 
  • ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ทำร้ายตนเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย 


การวินิจฉัย 

สำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเอง หรือคนใกล้ชิดมีอารมณ์ขึ้น-ลง หรือผิดปกติกว่าคนทั่วไปดังที่กล่าวมา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเข้าข่ายของอาการโรคไบโพลาร์หรือไม่ ยิ่งได้รับการรักษาเร็วและถูกวิธี ยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้เร็ว โดยการวินิจฉัยของแพทย์จะทำการซักประวัติและพูดคุยกับผู้ป่วย ประกอบกับการตรวจร่างกายและสภาพจิตใจด้วยแบบสอบถาม จากนั้นจะทำการประเมินและสรุปผล อิงด้วยข้อมูลที่ได้ทั้งจากตัวผู้ป่วยและญาติ รวมไปถึงการสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วย โรคประจำตัว และประวัติการใช้ยา ที่อาจส่งผลข้างเคียงจนก่อให้เกิดภาวะไบโพลาร์ 

 

วิธีการรักษาโรคไบโพลาร์ 

แนวทางหลัก ๆ ในการรักษาอาการไบโพลาร์ คือ การให้คำปรึกษา แนะแนวทางในการดูแลตนเอง ร่วมกับการใช้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองและควบคุมอารมณ์ โดยทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ จะมุ่งเน้นในทางด้านใดเป็นหลัก ส่วนในรายผู้ป่วยไบโพลาร์ที่มีอาการรุนแรง มีแนวโน้มอาจก่อเหตุอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ทางแพทย์อาจพิจารณาให้รับผู้ป่วยรักษาอาการที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และด้วยที่โรคไบโพลาร์มีอัตราสูงต่อการกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี หรือขึ้นอยู่กับระดับอาการของโรคในผู้ป่วย 

ผู้ป่วยและญาติควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้ 

  • ดูแลสุขภาพร่างกายทั่วไป เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ งดการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด 
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น เล่นโยคะ ฟังเพลง สวดมนต์ นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ 
  • หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง หากรู้สึกว่าตนอาจมีอาการไบโพล่าเบื้องต้น รีบไปพบแพทย์ ก่อนจะลุกลามสู่โรคไบโพล่าร์ระยะสุดท้ายจนรักษาหายยาก 
  • แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบเพื่อช่วยสังเกตอาการของตนและพาไปพบแพทย์ 
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

 

ญาติและคนใกล้ชิดผู้ป่วยไบโพลาร์ ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 

  • เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นอาการป่วย ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของผู้ป่วย 
  • ช่วยสังเกตอาการของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น 
  • ช่วยเตือนให้ผู้ป่วยทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 
  • ช่วยควบคุมพฤติกรรมและการใช้จ่ายที่เสียงต่ออันตราย 
  • พูดคุย ทำความเข้าใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกหมดหวังหรือกำลังใจ 

 

โรคไบโพลาร์เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม กระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเป็นอาการป่วยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่ความผิดทางนิสัยโดยแท้ ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในผู้ป่วยไบโพลาร์ ไม่ตัดสิน ไม่แบ่งแยก ไม่ผลักไส ไม่มองว่าผิดแปลก และให้กำลังใจผู้ป่วย จะช่วยให้อาการของโรคในผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข

tt ads