
เจ้าปลาเนื้อส้ม จัดเรียงสวยบนจาน ชวนน่ารับประทาน นิยมกินดิบและปรุงสุก นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่เมนูยอดฮิตคงหนีไม่พ้น ซูชิ หรือ ซาชิมิ เอ่ยมาแค่นี้ทุกคนย่อมนึกถึง ปลาแซลมอน ปลายอดนิยมของคนไทย แล้วทำไมคนไทยส่วนใหญ่จึงชอบรับประทานปลาแซลมอน ทั้งที่ประเทศไทยมีปลาหลากหลายชนิดให้เลือกทาน มีความสดกว่า และราคาถูกกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลารอและเสียค่าจัดส่งนำเข้าประเทศ แต่ ปลาแซลมอนก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอันดับต้น ๆ อยู่ดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คุณค่าทางโภชนาการจากปลาแซลมอน
จากฐานข้อมูลคุณค่าโภชนาการอาหารของของกระทรวงการเกษตรสหรัฐ เนื้อปลาแซลมอนปรุงสุก ปริมาณ 85 กรัม มีสารอาหาร
กระทรวงการเกษตรสหรัฐได้จัดทำข้อมูลคุณค่าโภชนาการอาหาร ในเนื้อปลาแซลมอนปรุงสุก (ปลาแซลมอนตามธรรมชาติ) ปริมาณ 85 กรัม จะประกอบไปด้วยสารอาหาร ดังนี้
- กรดไขมันโอเมก้า 3
- โปรตีน 19.93 กรัม
- ไขมัน 3.65 กรัม
- พลังงาน 118 กิโลแคลอรี
- วิตามิน D 64%
- วิตามิน B12 177%
- เซเลเนียม 59%
- ไนอะซิน 48%
- ฟอสฟอรัส 39%
- ไทอะมีน 5%
กินปลาแซลมอนได้ประโยชน์อะไรบ้าง
แหล่งกรดไขมัน โอเมก้า 3
ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 จำนวนมาก ซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยบำรุงประสาท พัฒนาสมองและการจดจำ ป้องกันโรคความจำเสื่อม โรครูมาตอยด์ และลดระดับคอลเลสเตอรอลในร่างกาย
บำรุงสายตา
ปลาแซลมอนอุดมไปด้วย วิตามิน A และ DHA ซึ่งเป็นกรดในจอประสาทตา ช่วยบำรุงสายตา บรรเทาอาการตาแห้ง
เสริมภูมิคุ้มกัน
วิตามิน D ในปลาแซลมอนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค โดยวิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม รวมไปถึงสารอาหารอื่น ๆ ได้ดี นอกจากนี้ วิตามิน D ยังมีส่วนในการช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหาย และ สามารถลดความรุนแรงของอาการโคลิด 19 ได้อีกด้วย
มวลกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง
ปลาแซลมอนมีวิตามิน D และโปรตีนสูง ช่วยให้กล้ามเนื้อความแข็งแรง กระชับ และเสริมสร้างกระดูก โดยในแซลมอน 100 กรัม มีโปรตีนเกือบ 20 กรัม
ช่วยเพิ่มพลัง กระปรี้กระเปร่า บรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
วิตามิน B12 และไนอะซิน ช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย ขจัดความอ่อนเพลีย และอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักหรือเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดี
ส่งเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์
ปลาแซลมอนมีเซเลเนียมสูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยปรับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ให้มีความสมดุล มีส่วนช่วยในกระบวนการสืบพันธุ์ และการสังเคราะห์ DNA ภายในร่างกายอีกด้วย
มีสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องดูแลเซลล์ร่างกาย
สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่ชื่อว่า Astaxanthin เป็นสารสำคัญในการช่วยปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย และยืดอายุเซลล์ไม่ให้เสื่อมสภาพ
ดีต่อสุขภาพหัวใจ
จากการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้ที่ทานปลาแซลมอนผ่านการปรุงสุกเป็นประจำ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง เนื่องจากกรดโอเมก้า 3 ในปลาแซลมอนมีส่วนช่วยในการปกป้อง และดูแลของอาการโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และ โรคหัวใจล้มเหลวได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นได้ว่า ปลาแซลมอน นอกจากจะมีความอร่อย กินเพลินเกินห้ามใจ ยังมีประโยชน์ต่อสุขาภาพมากมาย แต่จะให้ดีควรกินปลาแซลมอนผ่านการปรุงสุกจะดีกว่าปลาแซลมอนดิบ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากพยาธิ เพราะปลาแซลมอนดิบแม้จะมีโอเมก้าสูง และรสชาติอาจถูกลิ้นบางคนมากกว่า แต่ปลาแซลมอนดิบอาจมีพยาธิตัวกลม หรือพยาธิตัวตืด ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเราได้เช่นกัน