
ช่วงนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อนจัด เดี๋ยวฝนฟ้าคะนอง เราเคยได้แนะนำการป้องกันตนเองในช่วงอากาศร้อนจัดกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาแนะวิธีการป้องกัน “ฟ้าผ่า” กันบ้าง เพราะช่วงนี้มีผนตกหนักหลายพื้นที่ อันเนื่องมาจากอิทธิพลร่องมรสุม และหลาย ๆ พื้นที่อาจเจอกับฝนฟ้าคะอง ลมกรรโชกแรง อาจมีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เกิดขึ้นได้ เราจึงต้องระวังอันตรายจากฟ้าผ่าเป็นพิเศษ เนื่องจากความรุนแรงของฟ้าผ่าทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุฟ้าผ่าเกิดจากอะไร
ฟ้าผ่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thunder คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุอิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆเดียวกัน หรือระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ หรือ ระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน ที่มีความต่างกันระหว่างขั้วบวกและขั้วลบ เช่น ด้านล่างของก้อนเมฆก้อนหนึ่งมีประจุลบ เคลื่อนผ่านพื้นดินที่มีประจุบวก ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ มีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น กลายเป็นฟ้าผ่าลงบนพื้นดินในบริเวณนั้น หรือ ด้านบนก้อนเมฆก้อนหนึ่งมีประจุลบ และด้านบนก้อนเมฆใกล้ ๆ กันมีประจุบวก เมื่อเคลื่อนที่ใกล้กัน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า กลายเป็นฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆซึ่งเรามักจะมองไม่เห็น แต่สำหรับนักบินหลายคนเลยทีเดียวที่มีโอกาสได้เห็นฟ้าผ่าแบบนั้น
วิธีป้องกันฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะมีลมกรรโชก ฝนฟ้าคะนอง รีบเข้าหลบในที่ปลอดภัย
- อยู่ให้ห่างจากเสาไฟฟ้าแรงสูง สายไฟ หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และข้างตึกสูง ๆ
- อย่ายืนใต้ต้นไม้สูง รวมทั้งบริเวณใกล้ต้นไม้สูง อย่าอยู่ในที่สูง หรือใกล้ที่สูง ๆ
- หากอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฟ้าคะนอง หาที่หลบไม่ทัน ให้นั่งชันเข่า เขย่งเท้า โดยให้เท้าแตะสัมผัสพื้นให้น้อยที่สุด และซุกศีรษะเข้าระหว่างเข่า
- เลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้า
- หากอยู่ในรถขณะเกิดฟ้าผ่า ปิดกระจกให้สนิท ห้ามสัมผัสตัวถังรถเด็ดขาด
- ห้ามนอนราบกับพื้น หรือนั่งราบไปกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้น
- ถอดเครื่องประดับหรือวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นโลหะออกจากร่างกายให้หมด เพราะโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า
- อย่าสัมผัส หรือ ให้ร่างกายโดนวัตถุที่เป็นโลหะทุกชนิด ขณะที่มีฝนฟ้าคะนอง หรือ ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ
- หากอยู่ภายในอาคาร ขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า อย่าอยู่ใกล้ประตู หรือ หน้าต่างที่เป็นโลหะ
- อยู่ให้ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถอดสาย เพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดประกายไฟ
- ถอดสายไฟอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้หมด รวมถึงสายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง (เมื่อเริ่มมีลมแรง หรือ มีเสียงฟ้าร้อง) อย่าทำเมื่อขณะเกิดฟ้าคะนอง
- อยู่ให้ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถอดสายทุกชนิด
- ไม่ควรถือร่มที่มีปลายเหล็กแหลมในที่โล่ง เพราะเสี่ยงต่อการล่อสายฟ้า อาจทำให้ฟ้าผ่าได้
- ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้ง ขณะฟ้าคะนอง มีฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ลมกรรโชกแรง และอาจฟ้าผ่าได้

อาการของคนถูกฟ้าผ่า
- ปากซีด ริมฝีปากเขียว
- สีหน้าซีดเซียว หรือ สีเขียวคล้ำ
- ชีพจรบริเวณคอเต้นเบา หรือ เต้นช้ามาก
- ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมาก หรือ ไม่เคลื่อนไหว
- ม่านตาขยายค้าง ไม่หดเล็กลง
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
การปฐมพยาบาลคนถูกฟ้าผ่า
- สังเกตบริเวณโดยรอบยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้าใช่ ให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยเข้าที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองถูกฟ้าผ่า
- โทรแจ้งขอความช่วยเหลือ สายด่วน 1669
- ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ เราสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที เพราะคนถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟหลงเหลือ ต่างจากคนถูกไฟช็อต ไฟดูด
- สังเกตอาการของคนถูกฟ้าผ่า หากบาดเจ็บ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ให้รีบทำการปั๊มหัวใจด้วยวิธี CPR ทันที เพื่อช่วยเรียกสัญญาณชีพกลับมา จนกว่าเจ้าหน้าที่ หรือรถพยาบาลฉุกเฉินมารับตัวผู้ประสบภัยฟ้าผ่า