tt ads

เมื่อ UN เตือนภัยพิบัติรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตน้ำลามทั่วโลก  

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ แจ้งเตือนทั่วโลกระวังวิกฤติน้ำรุนแรง และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก เพิ่มความเสี่ยงให้ภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งจากสถิติพบว่า ภัยพิบัติจากน้ำเพิ่มความถี่มากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พ.ศ.2543 ได้เกิดอุทกภัยเพิ่มขึ้นถึง 134

 

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องการจัดการน้ำมาตลอด ปัญหาน้ำท่วม ระบายน้ำไม่ทันทุกครั้งที่มีมรสุมหรือช่วงฝนตกหนัก นอกจากปัญหาประสบภัยน้ำท่วมครอบคลุมหลายจังหวัดในแทบทุกภาคของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เดือดร้อนการไม่มีน้ำกินน้ำใช้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ข้าวขาดน้ำยืนแห้งตาย ปลาหลายร้อยหลายพันตัวนอนตายบนพื้นดินที่แตกระแหง นี่เป็นเพราะการจัดการระบบน้ำของไทยที่ไม่มีคุณภาพ 

 

ทั้งที่บ้านเรามีการจัดการวางระบบรองรับน้ำได้อย่างสวยงามและรอบคอบมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนการสร้างเขื่อนเป็นการรับมาจากบ้านฝรั่งเขามาอีกที เราก็เห่อแต่คอยจะสร้างตามเขาจนทำลายด่านปราการของนิเวศธรรมชาติอย่างป่าไม้ไปแล้วเท่าไร อีกทั้งเราเคยมีเทวดาเดินดินที่ตรากตรำงานหนักเพื่อประชาชนคนไทย แนะนำและปูระบบการจัดการน้ำให้มีใช้ยามหน้าแล้ง และไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อหน้ามรสุม แต่…ทุกอย่างไม่มีการสานต่อ กลับถูกเก็บเข้ากรุเหลือเพียงแค่รอยคำสอนจางๆที่คนไม่กี่รุ่นเท่านั้นเชิดชูและคนจำนวนหยิบมือที่เห็นค่าและลงมือทำ จนทำให้รอดพ้นเหตุเภทภัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าไทยเรามีระบบการจัดการในการรองรับระบบน้ำไว้ได้อย่างชาญฉลาดและมีความสวยงาม ดูได้จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและพื้นที่ชุมชนโคกกระทือ อ.ศรีสำโรง ในจังหวัดสุโขทัยที่ใช้ระบบโคกหนองนาโมเดลศาสตร์ของพระราชาได้รอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างน่าทึ่ง ในขณะที่พื้นที่อื่นๆในสุโขทัยอ่วมหนักเพราะน้ำท่วมสูง บางพื้นที่ก็ท่วมสูงถึง 2 เมตรเลยทีเดียว 

 

โคกหนองนาโมเดล คือ การจัดการพื้นที่การเกษตรที่เป็นการผสมผสานทฤษีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านในการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้สอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งใช้หลักการให้ธรรมชาติจัดการในตัวมันเองโดยมีมนุษย์จัดการให้เป็นระบบและยังเป็นแนวทางการเกษตรอินทรีย์และสร้างหลักชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

 

1.โคก เป็นพื้นที่สูงที่นำดินได้จากการขุดหนองน้ำมาทำเป็นโคกเพื่ออยู่อาศัยโดยปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และอากาศ ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ ทำแบบพออยู่พอกิน แล้วค่อยขยายเป็นระบบเครือข่าย 

 

2.หนองน้ำ ขุดหนอง “คลองไส้ไก่” โดยขุดให้คดเคี้ยวรอบบริเวณ เพื่อรองรับน้ำไว้ใช้และระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมหรือที่เรียกว่า“หลุมขนมครก” และทำการเลี้ยงปลา รวมไปถึงทำฝายทดน้ำไว้รอบๆเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งคลองไส้ไก่นี้นอกจากจะไว้เก็บกักน้ำไว้ใช้แล้ว ด้วยจากการที่เป็นหนองคดเคี้ยวรอบบริเวณพื้นที่ทำให้ช่วยประหยัดแรงในการรดน้ำ เพราะดินบริเวณรอบๆมีความอุดมสมบูรณ์จากหนองน้ำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อยๆ 

 

3.นา ยกคันนาให้สูงและกว้างเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วม ปรับฟื้นฟูดินเพื่อให้เกิดจุลินทรีย์ธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตร ปลูกข้าวอินทรีย์ท้องถิ่น และปลูกพืชผักตามคันนาเป็นพืชอาหารที่ปลอดภัย ไว้เป็นอาหารได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง และสามารถเพิ่มปริมาณไว้แจกจ่ายหรือจำหน่ายสร้างรายได้ 

 

โคกหนองนาโมเดลนี้ถูกนำไปอบรมให้ความรู้และนำไปใช้จริงกับชาวเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร 4 แปลง เพื่อเป็นแปลงต้นแบบเมื่อพ.ศ.2561 จากการร่วมมือกันระหว่างปตท.ศผ.(โตรงการเอส1) และกรมปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อเห็นผลตอบรับดี ชาวบ้านในพื้นที่แปลงต้นแบบสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีน้ำกินน้ำใช้ ปตท.ศผ.จึงได้ขยายนำไปใช้ที่จังหวัดสุโขทัยในพ.ศ.2563 ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ครอบคลุมครึ่งประเทศ ณ เวลานี้ (พ.ศ.2564) จึงเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ศาสตร์แห่งพระราชา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร เป็นระบบจัดการน้ำได้ดีที่สุดอีกศาสตร์หนึ่ง

 

และอีกศาสตร์หนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นระบบการจัดการที่ดีที่สุดในโลกก็คือ จัดการน้ำแบบเนเธอร์แลนด์ เจ้าแห่งการควบคุมน้ำและไร้ปัญหาน้ำท่วมมา 68 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 1953 

Delta Works เป็นโครงการระบบบริหารจัดการน้ำและควบคุมผลกระทบจากอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนต์ ซึ่งมีหลายประเทศต้องการเรียนรู้จึงได้เดินทางไปศึกษาระบบที่เนเธอร์แลนด์และต้องการนำระบบนี้กลับไปปรับใช้ในประเทศของตน รวมถึงประเทศไทยที่ได้มีการไปศึกษาระบบเดลต้าที่เนเธอร์แลนด์เช่นกันแต่ยังไม่มีการนำมาใช้จนถึงตอนนี้ 

 

ทำไมเดลต้าเวิร์คส์ถึงถูกสร้างขึ้น?

Delta Works สร้างขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนเข้าสู่ฝั่งพื้นดินจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 31 ม.ค.ปี1953 เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตไปกว่า 2,000 คน และผู้คนนับหลายแสนคนต้องตกอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่ฉับพลัน เพราะพื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์กว่า 40% เป็นที่ราบลุ่มและต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และประเทศตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเมิซ และ แม่น้ำสเกลต์ ที่เชื่อมติดกับทะเลเหนือ ทำให้เกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เรียกขานเหตุการณ์นั้นว่า “North Sea Flood of 1953

 

วิกฤตมหัตภัยครั้งนั้นทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องหาวิธีการป้องกันภัยระยะยาว โดยการสร้างระบบ Delta Works ขึ้นมาเพื่อรองรับและแก้ปัญหาการจัดการน้ำ โดยมีโครงการย่อยถึง16โครงการ ตั้งแต่การสร้างเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกันน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน กำแพงกั้นคลื่นทะเล ฯลฯ ทั้งแบบกั้นถาวรและที่สามารถเปิด-ปิดได้ จะกั้นตั้งแต่จากปากแม่น้ำจนมาถึงลำน้ำในประเทศเพื่อไม่ให้น้ำทะเลทะลักเข้าไปยังที่ลุ่ม โดยกลไกของคันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำและกำแพงกันคลื่น ซึ่งกันน้ำทะเลออกจากแม่น้ำอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนสามารถนำน้ำจืดสะอาดในเขื่อนไปใช้ได้หลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะทางการเกษตร สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้มากมาย  

 

การทำงานของ Delta Works เป็นการกักเก็บน้ำในแม่น้ำทุกสายของเนเธอร์แลนด์ เป็นระบบที่เชื่อมต่อกันหมด เพื่อให้น้ำที่มาจากเยอรมนีไหลลงสู่ทะเล ซึ่งการทดสอบระบบส่วนใหญ่จะเน้นที่ระบบแม่น้ำตามแนวแม่น้ำสายหลัก และระบบ Delta Works นับว่าเป็นระบบการจัดการน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ศาสตร์การใช้น้ำของชาวดัตต์คือการปรับใช้ชีวิตร่วมกับน้ำให้ได้ เพราะเนเธอร์แปลว่าต่ำ เนเธอร์แลนด์จึงหมายถึงผืนแผ่นดินที่ต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงในการถูกน้ำท่วมได้เสมอ ไม่ว่าจะจากน้ำทะเลหนุนหรือจากพายุซัดน้ำทะเลเข้ามา ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการคอยรับมือและพัฒนาระบบอยู่เสมอเช่นกัน  

Delta Works ราคาเท่าไหร่?

Delta Works เป็นโครงการที่สานต่อมาจาก Delta Plan เป็นการพัฒนาโครงการเดิมให้มีระบบที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น โดยโครงการนี้มีการใช้งบประมาณไปประมาณ 240,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับคุณประโยชน์ต่อประชากรและประเทศแล้ว เรียกได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าอย่างที่สุด

 

ส่วนปริมาณน้ำจืดที่อาจจะมากเกินความจำเป็น จะมีการผันไปใช้ในพื้นที่ๆที่ต้องการใช้มากกว่าอย่างเช่นบริเวณทางเหนือของประเทศ อีกทั้งยังมีระบบจัดการน้ำดีและระบบบัดน้ำเสียได้อย่างดี  

ส่วนประตูระบายน้ำก็มีการทำงานที่น่าสนใจ โดยปกติจะมีการเปิด-ปิดช่วงเวลาเฉพาะคลื่นน้ำทะเลแรงและสูงเท่านั้น เพื่อให้ชาวประมงได้สามารถประกอบอาชีพดั้งเดิมได้ตามปกติ และถึงแม้ว่าระบบเดลต้านี้จะประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจนถูกยกเป็นต้นแบบในระบบริการจัดการน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ใหญ่ที่สุดในโลกจนมีหลายประเทศได้เดินทางมาศึกษางาน แต่ทางรัฐบาลก็เล็งเห็นว่าอาจยังไม่เพียงพอต่อการรับมือปัญหาระดับน้ำทะเลที่อาจจะสูงขึ้นในอนาคต จึงได้มองว่าจะต้องทำการพัฒนาระบบที่ใช้ปัจจุบันให้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่ถ้าเทียบกับการช่วยป้องกันความเสียหายต่อชีวิตประชากรและทรัพย์สินในประเทศจากน้ำท่วม และคุณประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง 

 

โครงการเดลต้าใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 47 ปี ถ้านับจากพ.ศ.2493 – พ.ศ.2540 นั่นเท่ากับว่าใช้งานระบบเดลต้ามาแล้ว 24 ปีด้วยกัน และเนื่องจากเป็นระบบบริหารจัดการน้ำที่ใหญ่และควบคุมผลกระทบจากอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก Delta Work จึงถูกจัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 7 ของโลกในปัจจุบัน

 

ถีงแม้ประเทศไทยจะไม่มีโครงการแบบ Delta Works แต่ที่จริงแล้วเรามีโครงการและทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่มีระบบใกล้เคียงโครงการย่อยของโครงการเดลต้า ทั้งการสร้างคันกั้นน้ำ การสร้างทางผันน้ำ การปรับปรุงตกแต่งสภาพลำน้ำ ไม่ว่าจะการเป็นการลอกท่อระบายน้ำ การกำจัดวัชพืชทางน้ำ เช่น ผักตบชวา การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายก หรือแม้แต่โครงการแก้มลิง ที่เกิดมาจากการสังเกตพฤติกรรมการกินของลิง ที่มักจะรีบอมกล้วยหรืออาหารไว้ตรงกระพุ้งแก้มทั้งสองทันที ก่อนจะค่อยเคี้ยวและกินในภายหลัง จึงเป็นที่มาการสร้างพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์และรอระบายลงสู่มหาสมุทร เหมือนเช่นกับการอมอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มของลิงนั่นเอง 

 

โครงการแก้มลิง 

ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ.2538 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ และต้องประสบปัญหากับน้ำท่วมเรื้อรังนานกว่า 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชดำริโครงการแก้มลิงขึ้น เมื่อวันที่ 18 พฤศจิการยน 2538 โดยการทรงให้หาสถานที่ในกรุงเทพฯ ตามจุดต่างๆ เพื่อรองรับการกักเก็บน้ำไว้รอระบาย เมื่อคลองสามารถระบายน้ำได้ก็ค่อยปล่อยน้ำที่กักเอาไว้ออกไป ช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้ โครงการแก้มลิงนอกจากจะถูกสร้างเพื่อการระบายน้ำและลดปัญหาอุทกภัยให้กับกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังช่วยในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพราะเมื่อระบายน้ำออกไป ปริมาณน้ำจะไปช่วยเจือจางและผลักดันน้ำเสียให้ออกไป เป็นการบำบัดน้ำเสียไปในคราวเดียวกัน 

วิธีการและประโยชน์ของโครงการแก้มลิง  

แก้มลิงจะเป็นการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนเพื่อให้น้ำไหลลงสู่คลองพักน้ำที่ชายทะเล เมื่อระดับน้ำในทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองก็จะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ จากนั้นค่อยสูบน้ำออกจากคลองแก้มลิง เพื่อให้น้ำตอนบนค่อยไหลลงมาที่แก้มลิง ทำให้น้ำที่ท่วมบริเวณตอนบนนั้นลดลง และเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลองก็จะทำปิดประตูระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับ เป็นการให้น้ำไหลทางเดียว และด้วยเหตุนี้ทำให้ช่วยในการรุกล้ำของน้ำเค็ม ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและแม่น้ำลำคลอง อีกทั้งโครงการแก้มลิงยังช่วยเก็บน้ำจืดไว้ด้านเหนือประตูระบายน้ำ ทำให้ประชาชนสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้

 

ปัจจุบันโครงการแก้มลิงกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพกว่า 20 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีคลองจำนวนมาก โดยจุดนี้จะเป็นส่วนที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะมีการแบ่งออกได้ 2 ส่วน ได้แก่ โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และ โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และ สระบุรี โดยจะมีชายคลองทะเลของสมุทรปราการเป็นบ่อพักน้ำ และอาจมีจุดอื่นๆเพื่อใช้รองรับเพิ่มตามความเหมาะสม เช่น คลองด่าน คลองตำหรุ คลองบางปลา คลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้า-ออก จากบ่อพักน้ำ ส่วนแก้มลิงฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครปฐม พระนครกรุงศรีอยุธยา และ อ่างทอง โดยใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เป็นบ่อพักน้ำแล้วระบายน้ำลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร และยังมีโครงการแก้มลิงทางแม่น้ำท่าจีนล่างที่ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยอีกด้วย 

 

นอกจากนี้โครงการแก้มลิงยังมีอีกในหลายพื้นที่ตามต่างจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมไปถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ แสดงถึงความห่วงใยแก่พสกนิกรของพระองค์ ถึงแม้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระมหากรุณาธิคุณและภาพที่พระองค์ทรงทรงตรากตรำงานหนักเพื่อประชาชนชาวไทย จะยังคงสถิตอยู่ในใจคนไทยทั้งประเทศและน้อมรำลึกอยู่เสมอ แน่นอนว่าหากไม่มีใครคิดร้ายทำลายโครงการเหล่านี้ให้หายไป โครงการต่างๆของพระองค์จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและลูกหลานไทยสืบไป 

 

ทั้งที่ไทยเราก็มีโครงการที่ดีขนาดนี้แต่ยังคงเกิดเหตุน้ำท่วมหนักจนสร้างความเดือดร้อนกันแทบทั้งประเทศในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความรุนแรงของธรรมชาติซึ่งก็ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาอย่างหนักแล้วว่าเกิดจากอะไร? ความไม่ใส่ใจในการเตรียมพร้อมของฝ่ายไหน..ทั้งที่ก็มีการแจ้งเตือนจากฝ่ายกรมอุตุฯและการติดตามสถานการณ์? ความประมาท? ความไม่มีวินัยของคนหรือไม่? ความเห็นแก่ตัวของนายทุนและคนบางกลุ่มหรือคนทั้งประเทศกันแน่? ความไม่ตระหนักและสืบสานสิ่งดีๆไว้? อย่าโยนความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายเดียว เพราะถ้ามีการให้ร่วมมือกันทุกฝ่าย ปัญหาหนักก็บรรเทา และถึงแม้ว่าผู้ที่มีอำนาจและพร้อมด้วยกำลังควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการใส่ใจและเร่งพัฒนาให้มากกว่านี้ก็ตาม…พ่อสร้างให้เรามามากแล้ว แต่เราเองหรือเปล่าที่หลงลืมและไม่ใส่ใจ  

tt ads