tt ads

เรื่องของโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสร้างบ้านและอาคาร นับตั้งแต่หลังคา ผนัง ตัวบ้าน ตลอดจนถึงการปูกระเบื้องพื้นบ้าน และยังมีสิ่งเล็ก ๆ อีกอย่างหนึ่งที่เจ้าของบ้านไม่ควรมองข้าม คือ การยาแนว ที่ช่างจะต้องใช้เมื่อทำการปูกระเบื้อง เพราะนอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของพื้นบ้านและยังเป็นการป้องกันปัญหาจุดรั่วซึมที่เจอได้บ่อยในหน้าฝนอีกด้วย 

แต่ยังมีหลายคนที่อาจไม่รู้ว่ายาแนวคืออะไร ยาแนวมีกี่ประเภท ใช้ยาแนวแบบไหนถึงจะเหมาะกับพื้นกระเบื้องที่บ้าน 

อะไรคือยาแนว? 

ยาแนวหรือกาวยาแนว คือวัสดุลักษณะกาว ที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำหน้าที่เชื่อมรอยต่อของกระเบื้องแต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน ให้ดูเรียบร้อย สวยงาม สะอาดตา โดยการใช้ยาแนวนั้นจะใช้ควบคู่ไปกับปูนกาว หรือ กาวซีเมนต์สำหรับปูกระเบื้อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น 

ยาแนวมีกี่แบบ?

ยาแนวที่ใช้ปิดรอยต่อระหว่างวัสดุต่าง ๆ ในแบบ Sealant นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 

  1. อะคริลิค ยาแนวที่ทำมาจากวัสดุไฮโดรคาร์บอน ที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย มีความยืดหยุ่น 5% แต่เมื่อแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ สามารถปิดรอยแล้วทาสีทับได้เลย ราคาถูก แต่ข้อเสียคือ รับแรงได้น้อย เพราะยืดหยุ่นได้เพียง 5% อีกทั้งยังมีน้ำเป็นตัวทำละลาย จึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานในพื้นที่ต้องเปียกน้ำตลอดเวลา เช่น ห้องน้ำ ห้องซักล้าง เป็นต้น
  2. โพลียูริเทน หรือที่มักจะเรียกว่า พียู ยาแนวประเภทนี้จะมีความยืดหยุ่นถึง 35% มีความแข็งแรง ทนทาน แห้งแล้วจะไม่หดตัว ทนแสงยูวี ลงแล้วทาสีทับได้ สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยใช้ยาแนวรอยต่อได้ทั้งเมทัลชีท เหล็ก กระจก อะลูมิเนียม โพลีคาร์บอเนต
  3. ซิลิโคน สารประกอบอนินทรีย์ มีความยืดหยุ่น 25% มีแรงยึดเกาะสูง ทนรังสียูวีได้ดี ใช้งานได้หลากหลาย ซิลิโคนแบบมีกรดจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว แห้งเร็ว แต่ใช้ยาแนวโลหะไม่ได้ ต้องเลือกใช้ซิลิโคนแบบไม่มีกรด ที่มีความยืดหยุ่นกว่า แถมไม่มีกลิ่นรบกวน แต่ข้อเสียคือแห้งช้า ทาสีทับไม่ได้ และมีราคาแพงกว่ายาแนวประเภทอื่น 
  4. ไฮบริด หรือ โมดิฟายซิลิโคน เป็นการผสมผสานระหว่างซิลิโคนกับพียูเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้หลากหลายขึ้น เพราะนำข้อดีของวัสดุยาแนวทั้ง 2 ชนิดมาไว้ในวัสดุเดียว นั่นคือ การยืดหยุ่นสูง ป้องกันรังสียู ยึดเกาะดี ใช้กับพื้นที่เปียกน้ำได้ และใช้กับวัสดุได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น พีวีซี ไม้ ปูน คอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ โพลีสไตรีน หินธรรมชาติ โลหะ และ สเตนเลส อีกทั้งยังไม่มีกรดและสารอันตราย เช่น ไอโซไซยาเนต ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยากับโลหะและวัสดุต่าง ๆ จึงปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ข้อดีที่มีมากขึ้น ทำให้ราคายาแนวประเภทนี้สูงกว่าชนิดอื่น ๆ 

เลือกยาแนวแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน 

  1. ยาแนวธรรมดา คือ ยาแนวที่ใช้งานทั่วไป เป็นยาแนวราคาไม่แพง แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อราดำได้ จึงไม่เหมาะกับพื้นที่เปียกชื้น แต่เหมาะกับการใช้งานพื้นภายในตัวอาคารทั่วไปมากกว่า 
  2. ยาแนวกันเชื้อรา คือ กาวยาแนวที่ป้องกันเชื้อราดำได้ เพราะมีการใส่สารยับยั้งการเกิดเชื้อรา จึงเป็นยาแนวที่นิยมใช้มากที่สุด สามารถใช้กับพื้นที่มีความเปียกชื้นได้ เช่น ห้องน้ำ พื้นที่ภายนอกอาคาร เป็นต้น 
  3. ยาแนวอีพ็อกซี่ คือ กาวยาแนวที่ดีที่สุด ทนต่อสารเคมี เหมาะในการใช้งานกับพื้นที่ต้องการความทนทาน และความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น พื้นโรงงาน สระว่ายน้ำ แต่ด้วยเป็นกาวที่ค่อนข้างมีส่วนผสมที่หลากหลาย มีราคาแพง การนำมาใช้งานจึงต้องเป็นคนที่มีความชำนาญหรือมีประสบการณ์
  4. ยาแนวกระเบื้องร่องเล็ก คือ กาวยาแนวที่มีความเหลวมากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยในการไหลตัวเข้าไปตามร่องกระเบื้อง แต่แห้งตัวเร็วเป็นพิเศษ จึงไม่ควรผสมรอไว้ และเมื่อยาแนวแห้งตัวแล้วไม่ควรใส่น้ำเข้าไปผสมอีก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาแนวลดลง เหมาะกับการใช้งานปูกระเบื้องที่ต้องปูชิดกัน เช่น กระเบื้องแกรนิโต้ 
  5. ยาแนวสระว่ายน้ำ เป็นกาวยาแนวใช้ปูกระเบื้องสระว่ายน้ำ ซาวน่า สปา เพราะเป็นยาแนวที่ทนต่อคลอรีน และรองรับแรงอัดได้ดี 

 

หากเลือกใช้ยาแนวไม่ถูกกับประเภทของงานและชนิดของกระเบื้อง อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายได้ เช่น อาจทำให้กระเบื้องหลุดร่อน หรือกระเบื้องหดตัวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้น้ำรั่ว น้ำซึม หรือสุดท้ายยาแนวก็ร่อนออก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์และค่าจ้างในการซ่อมแซมพื้นกระเบื้อง 

tt ads