tt ads

ประเทศไทยมียุงเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ยิ่งบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำหรือมีน้ำขังยิ่งมียุงชุม เรามักจะรู้กันว่ายุงพาหะนำโรคต่างๆมาสู่สัตว์และมนุษย์ แล้วยุงเป็นพาหะนำโรคอะไรบ้างล่ะ? ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของโรคที่มากับยุง เรามาทำความรู้จัก “ยุง” กันสักหน่อยดีกว่า

ยุงคือแมลงขนาดเล็กที่จัดอยู่ในไฟลัม Arthropoda มี 2 ปีก และ 6 ขา โดยยุงตัวเมียจะอาศัยดูดกินเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหาร และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-6 สัปดาห์ ในขณะที่ยุงตัวผู้จะกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร และมีอายุเพียงประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับอากาศและแสงสว่างที่เหมาะสมด้วย ยุงนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ สามารถพบได้ทั่วโลก แต่จะพบมากในเขตร้อนและอบอุ่น เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ อินเดีย แอฟริกา เป็นต้น 

แม้ว่ายุงตัวเมียเท่านั้นที่ดูดกินเลือดเพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุในเลือดไปใช้ในการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ แต่ยุงตัวใหญ่หรือยุงตัวเมียชนิด Toxorhychites mosquitoes จะกินแต่น้ำหวาน ซึ่งการกินเลือดของยุงแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างออกไป บางชนิดก็กินเลือดสัตว์อื่นๆและสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ม้า สุนัข แต่ก็มียุงบางชนิดที่กินเลือดคนเท่านั้น โดยการล่าเหยื่อของยุง จะใช้การรับรู้จากสารเคมีในตัวเหยื่อ การมองเห็นภาพ และการรับรู้จากอุณหภูมิในร่างกาย หรือความร้อนในตัวเหยื่อนั่นเอง 

 

โรคที่เกิดจากยุงมีอะไรบ้าง 

1.โรคไข้เลือดออก 

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายพาหะนำโรค โดยยุงลายนี้เป็นยุงที่ออกดูดเลือดตอนกลางวัน มีลักษณะสีขาวสลับดำ แหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีคือแหล่งน้ำขังและน้ำนิ่ง และยิ่งชุกชุมมากในฤดูฝน เมื่อยุงลายไปกัดผู้ป่วยที่มี่เชื้อของโรคนี้ หรือผู้ป่วยไข้เลือดออก เชื้อไวรัสในเลือดจะไปสะสมในน้ำลายของยุง และเมื่อยุงลายไปกัดคนอื่นต่อ จึงทำให้แพร่เชื้อให้กับคนต่อไป จนเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค

อาการของโรคไข้เลือดออก :  หลังจากที่ถูกยุงกัดประมาณ 5-8 วัน ช่วงแรกจะเป็นช่วงระยะไข้ ประมาณ 4-7 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูก อาจไม่มีน้ำมูกหรืออาการไอ แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นแดงๆตามร่างกาย เลือดออกง่าย เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ปลายมือปลายเท้าเย็น จากนั้นอาการไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วงนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อน จากการที่พลาสมาหรือสารน้ำในเลือดมีการรั่วออกจากเส้นเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยช็อก ชัก แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายในได้ แต่ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ปัสสาวะมากขึ้น ผู้ป่วยเริ่มอยากรับประทานอาหาร 

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย หรือต้องดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก 

  • หมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ ควบคู่กับการทานยาลดไข้ หรือพาราเซตามอล (ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือไม่เกินวันละ 8 เม็ด เพราะถ้าทานมากเกินไป จะส่งผลให้ตับอักเสบได้) เพื่อเป็นการลดไข้ 
  • ควรดื่มน้ำเกลือแร่ช่วงที่มีไข้สูง เพราะหากดื่มแต่น้ำเปล่า อาจทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดเสียสมดุลได้ 
  • ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง อาจมีผลเสียมากขึ้น เช่น อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือยาอาจทำให้ตับอักเสบ
  • หากมีการใกล้ชิดหรือเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก แล้วเกิดมีไข้สูง ให้รีบพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้เลือดออก 
  • หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก หรือการกระทำที่เสี่ยงต่อการให้เกิดเลือดออก แม้แต่การเคี้ยวอาหารแข็งๆ เพราะยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้เลือดออกได้ง่าย 

การป้องกันการติดเชื้อ 

  • พยายามไม่ให้ยุงกัด หรือหาวิธีป้องกันยุง เช่น กางมุ้ง ติดมุ้งลวดกันยุง ใช้ยาทากันยุง 
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เทน้ำขังในบ้านและรอบๆบริเวณรัศมี 50 เมตร ทิ้งให้หมด เพื่อกำจัดยุงลาย หาฝาปิดภาชนะให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ได้ 

2.โรคมาลาเรีย 

โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เกิดจากยุงก้นปล่อง ยุงชนิด Anopheles dirus และ minimus เป็นพาหะเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ มีไข้สูงและหนาวสั่น หรือที่เรียกว่า ไข้จับสั่น และยุงก้นปล่องนี้เป็นยุงกลางคืน พบชุกชุมมากช่วงหน้าฝน แต่ถ้าเป็นยุงชนิด dirus จะพบในป่าทึบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยุงก้นปล่องแทบทุกชนิดจะออกดูดเลือดในช่วงกลางคืน ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงดึก หากเด็กได้รับเชื้อนี้ จะมีอการหนักกว่าผู้ใหญ่ แม้ว่าปัจจุบันจะมียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียม แต่ก็มีการดื้อยาค่อนข้างมาก และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรมาเลเรีย 

อาการของโรคมาเลเรีย : เมื่อถูกยุงก้นปล่องกัด เชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์จะใช้เวลาฟักตัวไม่เท่ากัน แต่ก็มีความใกล้เคียงกันประมาณ 7-14 วัน หรืออาจมากกว่า 2 สัปดาห์ หากเป็นสายพันธ์ุ malaria โดยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หน้าซีด ปากซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งอาการไข้นี้แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ 

  • ระยะที่ 1 ระยะหนาว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ผิวหนังเย็นซีด มีอาการหนาวสั่นขนลุก อาจหนาวเข้ากระดูก แบบที่ห่มผ้าก็ไม่หายหนาว ระยะที่1 จะมีอาการประมาณ 10-20 นาที แล้วจึงเข้าสู่ระยะต่อไป 
  • ระยะที่ 2 ระยะร้อน ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส คลื่นไส้อาเจียน ชีพจรเต้นแรง ผิวหนังร้อนแดง โดยระยะนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าระยะอื่นๆ อาจประมาณ 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น จากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 
  • ระยะที่3 ระยะเหงื่อออก อุณหภูมิในร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็ว มีเหงื่อออกทั่วร่างกาย โดยอาจใช้เวลาร่วมชั่วโมง แล้วไข้ก็จะลดลงเรื่อยๆ 

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย หรือต้องดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก  

  • กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะเชื้อมาลาเรียมีโอกาสสูงที่จะดื้อยา 
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำ 
  • พยายามอย่าให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย 

การป้องกันการติดเชื้อ

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่มียุงชุกชุม เช่น ป่าทึบ หรือแหล่งที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย 
  • หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง พยายามใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิด ไม่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม ทายาหรือสเปรย์ไล่ยุง และถ้าต้องค้างแรมก็นอนกางมุ้ง หรือมีมุ้งลวดกันยุง และอาจติดการบูรไล่ยุงไว้ในบริเวณที่พัก

การมีภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ขณะมีไข้ หรือหลังจากไข้ลดลงแล้ว โดยผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่มีภาวะแทรกซ้อน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการชัก อัมพฤกษ์ อัมพาต และพิการทางสมองหรือร่างกาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นต้องพยายามอย่าให้ยุงกัด หรือหากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น หลังจากเดินทางไปยังสถานที่สุ่มเสี่ยง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

3.ไข้สมองอักเสบ / ไข้สมองอักเสบ เจ อี 

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japannese encephalitis virus (JEV) ซึ่งพบผู้ป่วยโรคนี้รายแรกในประเทศญี่ปุ่น จึงเป้นที่มาของชื่อไวรัส โดยโรคนี้มียุงเป็นพาหะนําโรคคือ ยุงรำคาญ เป็นยุงตัวเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นยุงกลางคืน มักจะพบได้มากทางภาคเหนือ แหล่งน้ำขังทั้งน้ำใสและน้ำสกปรก หรือที่มีการทำการเกษตร และปศุสัตว์ โดยยุงรำคาญไปกัดหมูที่เป็นโรค และมาแพร่เชื้อต่อให้กับคนและสัตว์อื่นๆ ผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบมีทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในวัยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี และเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เมื่อติดเชื้อไข้สมองอักเสบนี้ มีโอกาสที่สมองพิการหรือเสียชีวิตได้สูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว 

อาการของโรคไข้สมองอักเสบ : เชื้อไข้สมองอักเสบจะทำการฟักตัวประมาณ 5-10 วัน หลังจากที่ถูกยุงรำคาญกัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ก็มีบ้างขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน โดยจะมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนมีไข้สูง ซึ่งจะมีอาการเหล่านี้ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น เซื่องซืม ต้นคอแข็ง เพ้อ ชัก หมดสติ และอาจอัมพาต ในระยะนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ด้วย หลังจากนั้นไข้จะลดลง และอาการทางระบบประสาทจะดีขึ้น แต่อาจมีผู้ป่วยบางราย มีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ ไม่ได้หายเป็นปกติ 100% เช่น สมองบางส่วนถูกทำลาย มักจะมีอาการชักกำเริบบ่อยๆ พิการ หรือร่างกายใช้งานได้ไม่ปกติ  ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีไขัสูงร่วมกับทางระบบประสาท ต้นคอแข็ง เพ้อ หรือชัก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที 

การป้องกันการติดเชื้อ 

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ใช้สเปรย์ไล่ยุง ทายากันยุง นอนกางมุ้ง 
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทำลายลูกน้ำยุงรอบๆบริเวณบ้าน และบริเวณรอบๆที่มีปศุสัตว์ รวมไปการฉีดวัคซีนให้สุกรและสัตว์ในฟาร์ม 
  • รับวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ โดยเฉพาะเด็กๆที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีครึ่งขึ้นไป และรับวัคซีนให้ครบตามสาธารณสุขกำหนด 

จะเห็นได้ว่ายุงตัวเล็กๆ แต่ความอันตรายที่ติดมากับเจ้าสัตว์ตัวเล็กๆนี้ มันมากเกินตัวกว่าหลายเท่า จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นทางที่ดีคือต้องระวังและหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนยุงกัด หรือถ้าเกิดรู้สึกไม่สบายและมีอาการที่เข้าข่ายของโรคเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาได้ทันและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด 

 

tt ads