tt ads

 

เพราะช่วงนี้เป็นฤดูฝน ฝนตกทุกวันไม่เว้นวัน อีกทั้งน้ำท่วมครอบคลุมหลายจังหวัด ทำให้มีโรคที่มากับหน้าฝนและโรคที่มากับน้ำสกปรก เพราะน้ำท่วมขังหลายวันประกอบกับขยะที่เกิดจากประชาชนทิ้งไม่เป็นที่ ทำให้ลอยปะปนกับน้ำบ้าง อุดตันตามท่อระบายน้ำบ้าง ทำให้บริเวณหลายแห่งที่มีน้ำท่วมขังเริ่มเน่าและสกปรกมากขึ้น 

 

ในฤดูฝนทุกๆปีหรือแม้แต่ช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวันที่เกิดจากอิทธิพลของพายุต่างๆ มักจะมีโรคที่มากับหน้าฝนเป็นประจำ ด้วยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความชื้นในอากาศ เป็นเหตุให้โรคที่มากับฝนหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ควรดูแลป้องกันตนเองอย่างไรจากโรคติดต่อในฤดูฝน

โรคที่มากับฤดูฝน

 

1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ 

  • โรคไข้หวัด (Common Cold) เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่มีหลากหลายสายพันธุ์ในอากาศ แต่เมื่อเป็นไข้หวัด มักจะเกิดจากสายพันธุ์เดียว และเมื่อหายจากไข้หวัด ร่างกายจะมีการสร้างภูมิต้านทานไวรัสชนิดนั้นขึ้นมา และเมื่อร่างกายอ่อนแอก็จะเป็นไข้หวัดจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ไม่ใช่สายพันธุ์เดิม อาการที่พบได้ทั่วไปคือ ปวดหัว ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ เมื่อไอมากๆอาจเจ็บบริเวณลิ้นปี่ อาจมีอาการหรือโรคอื่นแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิบอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ วิงเวียนศีรษะจากหวัดลงหู หูชั้นกลางอักเสบ สำหรับเด็กเล็กบางคนอาจมีอาการชัก การติดต่อไข้หวัดได้จากสารคัดหลั่ง น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ อาจด้วยวิธีการไปสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีเชื้อหวัด หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยแล้วหายใจเอาละอองฝอยน้ำลายในอากาศจากการไอ จาม เข้าไปก็จะทำให้ติดเชื้อหวัดได้ 

 

  • โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินฟลูเอนซาหรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี โดยมักจะพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มอายุเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้แก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ดังนั้น 2 กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ควรดูแลสุขภาพและระวังโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่ากลุ่มวัยอื่น อาการที่พบจากไข้หวัดใหญ่ คือ หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการอ่อนเพลียมาก ส่วนใหญ่อาการจะหายได้ใน1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อน อย่างเช่น ปอดอักเสบ อาจทำให้มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ 

*การป้องกันโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ด้วยการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น ไม่ใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

 

  • โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งสาเหตุของโรคจะมีความแตกต่างกันไป แต่มักจะเกิดต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในฤดูฝน อาการของโรคปอดอักเสบ เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากมีอาการหวัด หากมีไข้สูง ไอ มีเสมหะ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หากมีอาการเหล่านี้ให้สงสัยไว้เลยว่าอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่หวัดเท่านั้น อาจมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ 

2.โรคติดเชื้อในคอ

ต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย การได้รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ ซึ่งอาจเกิดได้ง่ายจากการรับประทานของทอด ของมัน น้ำชา กาแฟ การสูบบุหรี่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาการของโรคติดเชื้อในลำคอ หากเกิดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการหวัดมาก่อน คอแดง ไม่มีจุดขาวที่ต่อมทอนซิล เจ็บคอโดยเฉพาะเวลากลืนอาหาร สีเสมหะ น้ำมูกใส แต่ถ้าเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย จะเกิดจากการที่มีอาการเจ็บคอเป็นเวลานาน คอแดงมาก มีจุดสีขาวที่ทอนซิล มีเสมหะ มีไข้ มีน้ำมูกเขียว-เหลือง เสียงพูดเปลี่ยน อาจแหบและแห้ง กลืนลำบาก

 

*การป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อในลำคอ  หากเกิดจากเชื้อไวรัส เพียงงดดื่มน้ำเย็น งดทานของทอด ของมัน อาหารรสจัด ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถหายได้ภายใน3-5วัน แต่ถ้าเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะต้องได้รับยาปฏิชีวนะและรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

3.โรคระบบทางเดินอาหาร

  • โรคท้องร่วงเฉียบพลันหรือท้องเสีย เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือเครื่องดื่มไม่สะอาด ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องร่วงเฉียบพลัน ถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ มีมูก อาการถ่ายผิดปกติ ปวดท้องแบบบิดเป็นๆหายๆ คลื่นไส้ หรืออาจมีอาการท้องอืดด้วย แม้ว่าโรคท้องร่วงนี้จะไม่มีอันตรายรุนแรง แต่หากมีการถ่ายเหลวต่อเนื่องมากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ ทำให้อ่อนเพลียหนัก เนื่องจากสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากรักษาไม่ทัน อาจเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ 

 

*การป้องกันโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ทำได้โดยการเลือกรับประทานอาการที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบและไม่สะอาด ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ไม่นำอาหารสดแช่แข็งละลายด้วยการแช่น้ำตั้งทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถเติบโตได้

 

  • อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน อาหารเป็นพิษ เกิดจากการดื่มน้ำหรืออาหารที่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อโรคต่างๆ ปรสิต เช่น อะมีบ้า หรือจากอาหารที่เป็นพิษอื่นๆ เห็ดพิษ สารเคมี สารหนู สารตะกั่ว อาการของอาหารเป็นพิษ เมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีพิษเข้าไปประมาณภายใน 2-6 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการปวดท้องแบบบิดเป็นพักๆ แต่จะปวดมากน้อยแล้วแต่ความรุนแรงของเชื้อโรคที่ได้รับ ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีการอาเจียนร่วมด้วย 

 

*การป้องกันและรักษา หากมีอาการไม่รุนแรงมาก ให้ดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งจะต้องเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย ไม่ใช่เกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่จะทำให้เสียน้ำมากขึ้น ไม่ควรทานยาเพื่อหยุดการถ่าย เมื่ออาการทุเลาสามารถทานอาหารอ่อนๆย่อยง่าย หากมีอาการรุนแรงถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาเจียนรุนแรง หน้ามืดจะเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ การป้องกันทำได้โดยวิธีเดียวกับการป้องกันโรคท้องร่วง ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่เก็บไว้หรือแช่ในตู้เย็นนานๆ ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ไม่นำอาหารสดแช่แข็งละลายด้วยการแช่น้ำตั้งทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถเติบโตได้

4.โรคทางตา 

โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส ที่อาจเพราะน้ำสกปรกเข้าตา มือสกปรกหรือสัมผัสเชื้อแล้วเผลอนำมาขยี้ตา การใช้สระว่ายน้ำสาธารณะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเจอในกลุ่มเด็กมากกว่าเนื่องจากขาดความระวัง โดยจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีเมือกขี้ตาสีขาวหรือเหลืองอ่อนจำนวนมาก เพราะติดเชื้อแบคทีเรีย  อาจมีอาการตาบวมร่วมด้วย ถ้าไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน อาการติดเชื้อก็สามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ 

 

*การป้องกันและรักษาโรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้าหรือขยี้ตา ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือที่มีอาการตาแดงแต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งรวมไปถึงอย่าพยายามนำมือสัมผัสผู้ป่วยมาสัมผัสใบหน้าและตาตัวเองเด็ดขาด หากมีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที หมั่นทำความสะอาดปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดตัว อย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วยหรือที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ รวมไปถึงงดการว่ายน้ำในช่วงโรคตาแดงระบาด ในกรณีการรักษานั้นหมอจะให้ยาปฏิชีวนะตามอาการ หากมีอาการปวดหรือเจ็บคอร่วมด้วย หมอจะจ่ายยาบรรเทาอาการปวดและฆ่าเชื้อ และผู้ที่มีอาการตาแดงควรลาหยุดจากงานหรือการเรียนเพื่อพักรักษาตัวอย่างน้อย 3 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น งดการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหายดี ควรใส่แว่นตากันแดดเมื่อต้องเผชิญกับแสง พักผ่อนให้เพียงพอ พักการใช้สายตา รวมไปถึงไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่นอย่างเด็ดขาด 

5.โรคไข้เลือดออก 

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เป็นโรคในฤดูฝนที่จะแพร่ระบาดได้สูงถึง 3 เท่าในช่วงเวลาปกติ โดยจะมีไข้ประมาณ 2-7วัน ซึ่งโรคนี้ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้ที่มีอาการมีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกเล็กๆขึ้นบริเวณตามตัว กระสับกระส่าย ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็วและเบา ถ่ายเป็นสีดำเหมือนถ่าน เสี่ยงที่จะมีอาการช็อกได้ ควรรีบนำตัวไปพบแพทย์ สำหรับการดูแลตัวเองหรือผู้อื่นเมื่อมีอาการไข้เลือดออก โดยการทานยาพาราเซตามอลเท่านั้นหากมีอาการปวดศีรษะ ห้ามทานยาแอสไพลินเด็ดขาดเพราะจะยิ่งทำให้เลือดออก เมื่อมีไข้ตัวร้อนให้หมั่นเช็ดตามข้อพับต่างๆเพื่อระบายความร้อน ดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากเหงื่อ ทานอาหารอ่อน แต่ควรงดอาหารที่มีสีดำหรือสีแดงไปก่อน เผื่อในกรณีที่ยังคงอาเจียนจะทำให้มีการวินิจฉัยผิดพลาดได้ เพราะไม่แน่ใจว่าอาเจียนเป็นเลือดหรือสีมาจากอาหารกันแน่ 

 

*การป้องกันจากไข้เลือดออก พยายามอย่าให้โดนยุงกัดโดยเฉพาะเวลากลางวัน หาสิ่งป้องกันการโดนยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง ทายาหรือโลชั่นกันยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อย่าให้มีน้ำขังตามจุดและบริเวณต่างๆรอบบ้าน 

6.โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

โรคฉี่หนูเป็นโรคหน้าฝนที่ระบาดมากที่สุด โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะอย่าง หนู สุกร สุนัข โค กระบือ และ แรดคูณ ซึ่งสัตว์พาหะเหล่านั้นอาจไม่แสดงอาการ แต่จะมีเชื้อแบคทีเรียและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแฝงอาศัยอยู่ตามดิน โคลน ร่องน้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำท่วมขังต่างๆ โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะสามารถแฝงและมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนๆเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นโรคที่มากับน้ำสกปรก ซึ่งคนจะสามารถรับเชื้อนี้ได้จากทางผิวหนัง เยื่อบุอ่อน เช่น ปาก ดวงตา จมูก โดยเชื้อนี้จะพบได้ในน้ำ อาจติดเชื้อจากการว่ายน้ำ การแช่น้ำท่วมขัง การสัมผัสโดนน้ำที่ปนเปื้อนปัสสาวะหรือเลือดของสัตว์พาหะโดยตรง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน 

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพเกษตร คนงานขุดท่อลอกคูคลอง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยมีน้ำท่วมขัง ผู้ที่ได้สัมผัสน้ำที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว อาการของโรคฉี่หนู จะแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก จะมีอาการปวดศีรษะ มีผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณ หลัง เอว น่อง  และคอแข็ง   ส่วนระยะที่2 จะปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำๆ เมื่อไข้ลดแล้วก็กลับมามีไข้ได้อีก ช่วงระยะเวลาของอาการไข้อาจนานเป็นเดือน อาจมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ ตับและไตทำงานผิดปกติ 

 

*การป้องกันจากโรคฉี่หนู หลีกเลี่ยงการเดินลุยหรือแช่น้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรก หากต้องทำงานหรือไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็ควรใส่รองเท้าบูทในขณะที่ต้องทำการลุยหรือแช่น้ำ ในกรณีที่มีแผล รอยข่วน รอยถลอกก็เช่นกัน ควรงดการลงน้ำ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องใส่รองเท้าบูทเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางบาดแผล รีบทำความสะอาดหรืออาบน้ำทันทีหลังจากมีการย่ำหรือแช่น้ำสกปรกหรือแหล่งที่อาจมีเชื้อฉี่หนูปนเปื้อน หากมีไข้สูงเฉียบพลันและปวดบริเวณน่องมาก ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ หรือการสัมผัสน้ำตามแหล่งต่างๆให้กับแพทย์ที่ทำการรักษาด้วย เพราะโรคฉี่หนูอันตรายหากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ 

 

เมื่อรู้แล้วว่าโรคช่วงหน้าฝนมีอะไรบ้างก็ควรเพิ่มความระมัดระวังเพื่อจะได้ไม่เจ็บป่วย นอกจากการหลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าวแล้ว ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และช่วยเสริมภูมิป้องกันให้กับร่างกาย  หาเวลาในการออกกำลังกายตามกำลังและเหมาะสม เพราะเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาจะได้ลดอาการรุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้เร็วนั่นเอง 

 

tt ads