tt ads

ยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้อากาศ และยาแก้ภูมิแพ้ (Antihistamine) ต่างก็คือยาที่ใช้บรรเทาอาการแพ้ หรือป้องกันการแพ้จากสารฮีสตามีน (Histamine) ที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้ ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล มีผื่นคัน เยื่อบุจมูกอักเสบ เยื่อตาอักเสบ มีลมพิษแบบเฉียบพลัน หลอดลมตีบ จนต้องบรรเทาอาการเหล่านี้ด้วยการกินยาแก้แพ้อากาศ หรือทายาแก้แพ้นั่นเอง 

 

ยาต้านฮีสตามีนมีอะไรบ้าง 

ปัจจุบันมีชื่อยาแก้ภูมิแพ้มากขึ้น แต่กลุ่มตัวยาต้านฮีสตามีน ได้แก่ 

  • คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) 
  • ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) 
  • ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)
  • ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) 
  • ทริโปรลิดีน (Triprolidine) 
  • บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)
  • คีโตติเฟน (Ketotifen) 
  • ออกซาโทไมด์ (Oxatomide) 
  • เซทิริซีน (Cetirizine) 
  • เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) 
  • เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) 
  • ลอราทาดีน (Loratadine)

 

ยาแก้แพ้มีกี่ประเภท?

ยาแก้แพ้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ยาแก้แพ้ชนิดทำให้ง่วง และยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วงนอน 

ยาแก้แพ้ชนิดทำให้ง่วง (First-generationAntihistamine)

ยาแก้แพ้รุ่นแรก ที่ใช้ในการรักษาอาการภูมิแพ้กันอย่างแพร่หลายมาอย่างยาวนาน เพราะสามารถใช้ได้ครอบคลุม อาทิเช่น อาการคันจมูก น้ำมูกไหล จาม ผื่นลมพิษ แมลงกัดต่อย สัมผัสโดนพิษจากพืชและสารเคมีบางชนิด และยังใช้บรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ หรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยยาแก้แพ้มีหลากหลายชนิดให้เลือก และราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)

เนื่องจากตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านตัวกั้นระหว่างหลอดเลือดกับเซลล์ระบบประสาท (Blood brain barrier) เข้าสู่สมองส่วนกลาง ซึ่งไปลดความตึงเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จึงทำให้รู้สึกง่วงหลังรับประทานเข้าไป ไม่กระฉับกระเฉง คิดอะไรช้า แต่จะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยาและร่างกายของแต่ละคน โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที แต่ก็หมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน ทำให้มีความถี่ในการทานยาถึง 3 ครั้ง / วัน จึงได้มีการพัฒนาตัวยาจนได้เป็นรุ่นต่อไป 

 

ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง (Second-generation Antihistamine)

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 ที่ถูกพัฒนามาจากยาแก้แพ้รุ่นแรก ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะออกฤทธิ์เหมือนกับยาแก้แพ้รุ่นแรกแล้ว แต่แทบจะไม่พบอาการง่วงซึมหลังจากทานยา  เนื่องจากตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่สมองส่วนกลางได้น้อยหรือไม่ถูกดูดซึมเลย จึงไม่กระทบกับกิจวัตรประจำวัน แต่สำหรับการบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ จะค่อนข้างด้อยกว่ายาแก้ชนิดง่วงแบบรุ่นแรก ตัวอย่างกลุ่มยาชนิดไม่ง่วง อาทิเช่น เซทิริซีน (Cetirizine) ลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งจะออกฤทธิ์ช้าแต่ก็หมดฤทธิ์ช้าเช่นกัน และทานเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น แต่ตัวยาออกฤทธิ์ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง

 

ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา

ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดจะต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ยาแก้แพ้ก็เช่นกัน เพราะยาแทบทุกชนิดจะมีข้อควรระวังที่แตกต่างกันไป และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่ยาแก้แพ้ก็เช่นกัน 

ผลข้างเคียงของยาภูมิแพ้แบบง่วง 

  • ง่วงนอน
  • คอแห้ง ปากแห้ง ตาแห้ง
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีอการวิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ปัสสาวะติดขัดหรือท้องผูก

ผลข้างเคียงยาภูมิแพ้แบบไม่ง่วง 

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บคอ
  • ไอ
  • อ่อนแรง
  • ปวดท้องหรือไม่สบายท้อง

แม้ว่ายาแก้แพ้จะสามารถหาซื้อได้ง่าย แต่ก็มีข้อควรระวังในใช้ยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยบางโรค 

 

 

ผู้ที่สามารถใช้ยาแก้แพ้ได้

สำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีอาการแพ้ เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล มีผื่นคัน เป็นลมพิษเฉียบพลัน เยื่อบุตาอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมตีบ แพ้เกสรดอกไม้ แพ้ฝุ่นละออง แพ้ขนสัตว์ แพ้อาหารทะเล หรือสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ 

 

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้

ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาภูมิแพ้ หรือแพ้ตัวส่วนประกอบในยานี้ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหอบหืด ผู้ที่มีคลื่นหัวใจผิดปกติ ความดันในลูกตาสูง เป็นต้อหิน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะคั่ง ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง 

 

ข้อควรระวังในการทานยาแก้แพ้ ยาต้านฮีสตามีน ยาภูมิแพ้ 

  • ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้ ก่อนหรือขณะปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร และขับยานพาหนะ  เพราะยาแก้แพ้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ 
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะทานหรือหลังจากทานยาแก้แพ้ เพราะจะยิ่งทำให้ง่วงซึมมากขึ้น
  • ระมัดระวังการใช้ยาแก้แพ้ในเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ
  • ผู้สูงอายุควรใช้ยาแก้แพ้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากระบบภายในร่างกายกำจัดยาออกได้น้อยกว่าวัยอื่นๆ
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากยาแก้แพ้บางตัวอันตรายต่อเด็กในครรภ์ และสามารถผ่านทางน้ำนมไปสู่เด็กทารกได้

ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้ภูมิแพ้

กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดประสาท เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดัน ยาโรคซึมเศร้า ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากันชัก หรือยาที่มีตัวยาแก้ภูมิแพ้ตัวอื่นๆผสมอยู่ เช่น  Amitriptyline, Guanethidine, Nifedipine, Tranylcypromine เพราะกลุ่มยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์กดระบบประสาททำให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงง ถ้ารับประทานร่วมกัน จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการ จนเป็นอันตรายได้ 

วิธีเก็บรักษายาแก้แพ้

การเก็บยาหลายๆชนิด รวมถึงยาแก้แพ้ ควรเก็บไว้ในที่แห้งภายใต้อุณหภูมิห้อง อย่าให้โดนแสงแดด ความร้อน ความชื้น เก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

 

tt ads