tt ads

กระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa เป็นพืชยืนต้นในวงศ์ Rubiaceae ที่มักจะถูกนำมาใช้ในการประกอบการรักษา หรือเป็นยาสามัญประจำบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับหลายร้อยปีแล้ว หากในประเทศไทย ต้นกระท่อมจะมีอยู่มากในทางภาคใต้ โดยส่วนใหญ่พบได้ในป่าธรรมชาติ หรือแม้แต่ใกล้ชุมชนบ้านเรือนคนอาศัย เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ไปจนถึงเขตชายแดน นอกจากนี้ก็ยังสามารถพบได้ในบางพื้นที่ของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แม้จะไม่มากเท่าทางภาคใต้ก็ตาม 

 

นิยมนำส่วนของใบกระท่อมสดมาเคี้ยว หรือต้มเป็นชา และหลายคนทางภาคใต้มักจะรู้วิธีการกินใบกระท่อมนี้เป็นอย่างดี เพราะมักจะเคี้ยวใบสดเหมือนเคี้ยวหมาก หรือแม้แต่นำไปตำทำเป็นน้ำพริก เพื่อช่วยเป็นยาได้หลายอาการ เช่น เคี้ยวใบกระท่อมแก้ไอ โรคบิด ท้องร่วง ปวดมวนท้อง อาการปวดเมื่อย หรือเพื่อให้มีกำลังวังชา โดยเฉพาะชาวสวนยาง ที่ต้องตื่นแต่หัวดึก ออกตัดยางตั้งแต่ไม่ย่ำรุ่ง เด็ดใบกระท่อมสดจากต้น เคี้ยวๆแล้วคายกาก ก็ตื่นตัวมีแรงออกไปกรีดยางได้สบาย 

กระท่อมไม่ได้มีดีเพียงแค่การเสริมกำลัง หรือใช้ประโยชน์ของใบกระท่อมได้จากการกินเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้สรรพคุณของใบกระท่อมสดในทางกายภาพภายนอกได้อีกด้วย อย่างในบางพื้นที่ในภาคใต้ของไทย และชาวมลายู ใช้ใบกระท่อมพอกแผล หรือการนำใบกระท่อมเผาให้ร้อน แล้วนำไปวางบนท้องเพื่อรักษาโรคม้ามโต และการนำใบกระท่อมใช้ควบคุมการติดฝิ่น ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศนิวซีแลนด์ 

 

ทำไมพืชกระท่อมเป็นสิ่งเสพติดในประเทศไทย 

อาจเนื่องจากเรื่องการจัดเก็บภาษี ในช่วงสมัย รัชการที่ 8 ซึ่งขณะนั้นมีโรงฝิ่นที่ถูกกฎหมาย และรัฐบาลสามารถเก็บภาษีอากรฝิ่นได้จากตรงนี้ แต่เมื่อประชาชนหันมาใช้ใบกระท่อม และกัญชา แทน เพราะไม่อยากซื้อฝิ่นที่มีราคาแพง ทำให้กระท่อม และกัญชา ถูกกำหนดเป็นยาเสพติด ประเภท 5 เสียอย่างนั้น และอาจจะด้วยอีกเหตุผลหลายส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเรื่องการเก็บภาษี การนำไปใช้ผิดวิธี ต้มใบกระท่อม 4 100 ทำให้ถูกกระตุ้นและมีอาการมึนเมา ชนิดที่สามารถเต้นได้ทั้งคืนโดยไม่หลับไม่นอน ทำให้รัฐบาลมองว่าเป็นการมอมเมา จึงกำหนดให้พืชกระท่อมและกัญชาเป็นสิ่งเสพติด 

 

จนเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 โดยมีใจความสำคัญ คือ เนื่องจากปัจจุบัน กระท่อม ถูกจัดเข้าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ในขณะที่หลายๆประเทศไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล อีกทั้งสังคมบางพื้นในไทย มีการบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน จึงสมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นสิ่งเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 

ได้มีการปลดล็อค ปลดปล่อยให้พืชกระท่อมเป็นไท หลุดจากความเป็นผู้ร้าย และไม่เป็นพืชที่ผิดกฏหมายอีกต่อไป โดยมีผล 90 วัน หลังประกาศ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนสามารถนำใบกระท่อมแก้ไอได้ ทานใบสด ต้ม ขาย และปลูกได้ แต่ห้ามนำไปผสมหรือต้มร่วมกับสารอื่นๆ เช่น ยาแก้ไอผสมน้ํากระท่อม ที่มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้น ทำให้มึนเมา และห้ามจำหน่ายให้กับเยาวชน เพราะมักมีกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมนำใบกระท่อมเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติด อย่างสารเสพติด 4×100 ที่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 

 

เรามาทำความรู้จักและประโยชน์ของใบกระท่อมมีอะไรบ้างกันดีกว่า ไหนๆก็ปลดล็อคกระท่อมออกจากสารเสพติดแล้ว และจะได้ใช้อย่างถูกวิธี เพราะถึงกระท่อมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเช่นเดียวกัน หากใช้ผิดวิธี 

 

ในประเทศไทยสามารถพบกระท่อมได้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 

  1. ก้านแดง 
  2. ก้านเขียว หรือ แตงกวา 
  3. ยักษาใหญ่ 

สรรพคุณใบกระท่อม

ใบกระท่อมมีประโยชน์อย่างไร ทำไมถึงได้ถูกนำมาใช้กันแพร่หลายมากขึ้น? นั่นเพราะสารสำคัญในใบกระท่อม ซึ่งประกอบไปด้วยแอลคาลอยด์ทั้งหมดประมาณ 0.5 % โดยเป็น Mitragynine (ไมทราไจนีน) 0.25% และที่เหลือก็จะมี Speciogynine (สเปโอไจนีน) Paynanthine (ไพแนนทีน) Speciociliatine (สเปซิโอซีเลียทีน) โดยแอลคาลอยด์ที่พบจะมีชนิดและปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ตามสถานที่และเวลาที่เก็บเกี่ยว โดยจะได้โครงสร้างของสารประกอบ 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 

 

  1. Indole Alkaloids (อินโดลแอลคาลอยด์) 
  2. Oxindole Alkaloids (ออกอินโดล แอลคาลอยด์) 
  3. Elavanoids (ฟลาวานอยด์) 
  4. กลุ่มอื่นๆ เช่น Tannins (แทนนิน)  Phytosterol (ไฟโตสเตอรอล) 

 

ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ที่เป็นส่วนของการรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้ไม่รู้สึกปวด ทางการแพทย์จึงนำสรรพคุณของใบกระท่อม มาใช้เป็นยาแก้ปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟิน และใช้รักษาตามอาการของโรคบางชนิดตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ใช้กระท่อมแก้ไอ แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง รักษาเบาหวาน หรือแม้กระทั่งนำใบกระท่อมรักษาอาการลงแดงจากการเลิกฝิ่น

เราใช้ประโยชน์ใบกระท่อมในด้านใดได้บ้าง

ทุกงานวิจัยเกี่ยวกับกระท่อม มีความชัดเจนและตรงกันในเรื่องของคุณประโยชน์ของใบกระท่อม สำหรับใช้เพื่อแก้ปวด โดยเฉพาะสาร ไมทราไจนีน (Mitragynine) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กระตุ้นคล้ายกับกาแฟ ช่วยให้มีความกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว  

วิถีภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน แถบ 14 จังหวัดทางภาคใต้ มักจะนำใบกระท่อมมาใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ สำหรับแก้โรคต่างๆ อ้างอิงจากเอกสารวิชาการ การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุมชุนและงานวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อม และงานวิจัยในปี 2548 ที่หมอพื้นบ้านภาคใต้ได้ใช้ทำการรักษาโรคโดยมีกระท่อมเป็นส่วนผสมในตัวยามาไม่ต่ำกว่า 10 ปี 

เรายกมา 5 อันดับโรค ที่หมอพื้นบ้านทางภาคใต้ได้ใช้กระท่อมเป็นยารักษาโรค ได้แก่ 

 

1.รักษาโรคท้องร่วง ปวดท้อง มวนท้อง

วิธีกินใบกระท่อมแก้ปวดท้อง

1.1) เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียด คายกากทิ้ง แล้วดื่มน้ำตามมากๆ 

1.2) ต้มใบกระท่อม ใส่เกลือ น้ำตาลทรายแดง กินแก้ปวดท้อง

วิธีต้มใบกระท่อมรักษาโรค

นำเปลือกต้นกระท่อม เปลือกต้นสะเดา เปลือกต้นมะขาม หนักอย่างละ 50 กรัม หัวขมิ้นชันแก่ หัวกระทือแก่ อย่างละ 1 หัว ไปเผาไฟจนสุก แล้วนำไปต้มกับน้ำปูนใส รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนแกง เมื่อหายจึงหยุดกิน

 

2.รักษาโรคเบาหวาน

วิธีกินใบกระท่อมแก้เบาหวาน 

เคี้ยวใบกระท่อม วันละ 1 ใบ เป็นเวลา 41 วัน 

วิธีต้มใบกระท่อมแก้เบาหวาน 

2.1) นำใบกระท่อม อินทนินน้ำ กระเทียมต้น กระเทียมเถา ต้มน้ำดื่ม 

2.2) ต้มใบกระท่อม หญ้าหนวดแมว ไม้ค้อนตีหมา อย่างละเท่ากันๆ ต้มน้ำ 3 เอา 1 ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น 

 

3.แก้ปวดเมื่อย 

วิธีต้มใบกระท่อมกินเป็นยา 

นำเถาวัลย์เปรียง มะคำไก่ มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เถาโคคลาน เถาสังวาล พระอินทร์ หญ้าหนู ต้นผักเสี้ยนผี แก่นขี้เหล็ก ใบมะกา อย่างละ 1 ส่วน เนื้อในฝัก ราชพฤกษ์ 5 ฝัก ใบกระท่อม 2 ส่วน เถากำแพงเจ็ดชั้น 3 ส่วน ต้มรวมกัน กินก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ ½ – 1 แก้วกาแฟ 

 

4.แก้ไอ

วิธีกินใบกระท่อมแก้ไอ

เคี้ยวใบสด คายกาก ดื่มน้ำตามมากๆ 

 

วิธีต้มใบกระท่อมกินแก้ไอ

ใช้ใบสด 1-2 ใบ ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มแก้ไอ

 

5. ขับพยาธิ

ใช้ใบกระท่อมสดขยี้กับปูนกินหมาก แล้วนำไปทาท้อง  

 

ส่วนในการนำประโยชน์ของกระท่อมมาใช้ในตำราหลวง จะใช้ในส่วนของ “ใบ” เป็นหลัก เนื่องจากในใบจะมีสารไมทราไจนีนอยู่มาก และหมอพื้นบ้านมีความเชื่อในประโยชน์ของใบกระท่อมต้ม เนื่องจากสารไมทราไจนีนจะออกมาจากการต้ม แต่ในการใช้ปริมาณมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ วิธีสกัด สูตร และผลแล็บ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้มีการศึกษาและวิจัยมากพอสมควร 

คุณประโยชน์ใบกระท่อมมีสรรพคุณทางยามากมาย ไม่ได้เพียงแค่ช่วยรักษาอาการปวด บำบัดผู้ติดยาเสพติด ติดมอร์ฟีน หรือโรคข้างต้นเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทา และรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆได้อีก  

 

  1. รักษาโรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ปวดมวนท้อง 
  2. ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะ
  3. แก้อาการนอนไม่หลับ 
  4. ช่วยระงับประสาท คลายความวิตกกังวล
  5. ช่วยทําให้เรามีสมาธิมากขึ้น
  6. ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทำงานได้นานขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย 
  7. ใช้บดทำเป็นยาสมุนไพรเพื่อพอกรักษาแผล 

 

ถึงแม้ว่าใบกระท่อมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากรับในปริมาณมากเกินไป หรือใช้เป็นระยะเวลานานๆ และหากใช้ผิดวิธี เรามาดูโทษของกระท่อมกันบ้างดีกว่า 

โทษของใบกระท่อมหากใช้ไปนานๆ หรือใช้ปริมาณมากเกินไป 

 

  1. มีความวิตกกังวล หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  2. ปากแห้ง
  3. เบื่ออาหาร
  4. ท้องผูก 
  5. คลื่นไส้ อาเจียน 
  6. ประสาทหลอน หวาดระแวง 
  7. นอนไม่หลับ
  8. ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออกมาก 
  9. หนาวสั่นง่าย กลัวฝน
  10. สีผิวคล้ำขึ้น 

ทานอย่างไรให้ถูกวิธีและไม่ให้เกิดผลข้างเคียง

ไม่ควรกินเกินวันละ 5 ใบ ไวนวิธีกินใบกระท่อม ให้รูดเอาก้านออก เอาแต่ส่วนอ่อนของใบ เคี้ยวเหมือนเคี้ยวหมาก ด้วยน้ำลายมีความเป็นด่าง จะสกัดเอาอัลคาลอยด์ ไมทราไจนีน ออกมา เคี้ยวจนหมดรสชาติ ก็คายกากทิ้ง ไม่ควรกลืนกากลงไป เพราะเส้นใยของใบกระท่อม รวมถึงก้านใบ มีความเหนียวมาก กระเพาะของเราไม่สามารถย่อยได้ หากเรากลืนลงไป และหากพอไปสะสม มันจะไปจับตัวเป็นก้อน และกระจุกอยู่ที่ลำไส้ ก่อให้เกิด ลำไส้อุดตัน หรือที่เรียกว่า ถุงท่อม ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงห่อหุ้มติดกับผนังลำไส้ และทำให้เรามีอาการปวดท้องได้ 

 

ส่วนการต้มใบกระท่อมกินก็ไม่ควรเกิน 5 ใบ / วัน เช่นกัน ก่อนต้มก็นำใบกระท่อมไปล้างให้สะอาด สะเด็ดน้ำ แล้วรูดเอาแต่ใบ นำส่วนก้านทิ้งไป ฉีกหรือขยี้ใบ ก่อนเทน้ำลงให้ท่วมใบ ต้มจนเห็นน้ำเป็นสีน้ำตาล หรือออกน้ำตาลอมแดง บีบมะนาวลงไปเล็กน้อย จากนั้นกรองเอากากออก ดื่มน้ำต้มกระท่อมเหมือนน้ำเปล่า หรือใส่น้ำตาลทรายแดง หรือใส่บ๊วยหวานลงไป เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยและดื่มง่ายขึ้น 

 

ถึงแม้ใบกระท่อมจะกินเพื่อเป็นยาได้ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ห้ามกินกระท่อม เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และใครบ้างที่ไม่ควรใช้ใบกระท่อมเลย?

 

  1. หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร
  2. ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ
  3. ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง
  4. ผู้ป่วยโรคหัวใจ

รู้จักใบกระท่อม วิธีการกินใบกระท่อมให้เป็นยา วิธีการต้มใบกระท่อม ประโยชน์และโทษกันไปแล้ว รวมไปถึงผู้ที่ห้ามใช้ใบกระท่อมเด็ดขาด หวังว่าจะได้นำสรรพคุณของใบกระท่อมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่เกิดโทษและผลข้างเคียง ที่สำคัญอย่านำไปผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น อย่างน้ำกระท่อมผสมยาแก้ไอ ทำน้ำกระท่อมจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งจำหน่ายในหอพัก สถานศึกษา หรือจำหน่ายแก่สตรีมีครรภ์  เพราะมันผิดกฎหมาย จะถูกปรับและจับนะ  เราเตือนคุณแล้ว!!

tt ads